วันที่ 23 มกราคม 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมาย ทีมตรวจสุดซอย นำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมาย นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานในพื้นที่ ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทีมตรวจสุดซอยและเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ร่วมกันตรวจสอบตู้สินค้า จำนวน 10 ตู้ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 พบสินค้าประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไม่ได้ ซุกซ่อนปะปนเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ และต้องสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายที่ต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้ง เบาะแสจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส. ว่ามีการนำของกลางที่เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกยึดอายัดไว้ในคดีในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ขนขึ้นรถบรรทุกพ่วงเพื่อมาส่งที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงเป็นเหตุผลในการเข้าตรวจค้นในวันนี้
โดยการตรวจค้นในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา (สอจ.ฉท.) เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษภาคตะวันออก กรมโรงงานอุตสาหกรรม (ศวภ.ตอ.) เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบโรงงาน
ผลการตรวจสอบ พบชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษของเสียประเภทแบตเตอรี่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าปนเปื้อนตะกั่ว ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 และถือเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และการทำผิดระเบียบการจัดตั้งโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานเกี่ยวกับความปลอดภัย เกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เช่น พบการกองวัสดุดิบภายนอกอาคารโดยไม่มีมาตรการป้องกัน เป็นต้น อันอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประชาชนและเกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 (3) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และมาตรา 54 (3) แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 อายัดวัตถุอันตรายและเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการ เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อไป
จากนั้นคณะเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหัดฉะเชิงเทรา และตำรวจ บก.ปทส. จึงได้เดินทางไปลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจภูธรพนมสารคาม เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #SAVEอุตสาหกรรมไทย #ฉะเชิงเทรา #พนมสารคาม #ฝังกลบ #กากอุตสาหกรรม #ขยะอิเล็กทรอนิกส์