วันนี้ (12 ธันวาคม 2567) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้ นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมทีมหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบบริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี รอบที่ 3 พบมีการฝ่าฝืนคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการ ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งปิดโรงงาน จึงได้ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดปราจีนบุรีเข้าตรวจสอบภายในโรงงาน ผลการตรวจสอบพบว่าโรงงานยังเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและฝ่าฝืนประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงมีการเคลื่อนย้ายของกลาง มีการติดตั้งเครื่องจักร ติดตั้งเตาหลอมโลหะโดยไม่มีวิศวกรรับรอง และบริเวณบ่อน้ำขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับโรงงานพบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากการตรวจสอบครั้งก่อน(วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567) สอดคล้องกับที่ปรากฎเป็นข่าว โดยทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษภาคตะวันออก (ศวภ.ตอ.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ เข้าเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และกากของเสีย พบว่ามีการปนเปื้อนโลหะหนักอันตราย เช่น ตะกั่ว และโครเมี่ยม เป็นต้น
นอกจากนี้ ในพื้นที่ไม่มีใบอนุญาตโรงงาน 2 แห่ง ที่อยู่ติดกัน พบเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก คาดว่าเป็นการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจาก กระทรวงพาณิชย์ได้มีประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งกรมโรงงานฯ ได้ตรวจพบบัญชีตู้ขนสินค้า และได้ทำการประสานขอข้อมูลใบนำขน เพื่อให้ทราบแหล่งที่มาและชื่อผู้รับสินค้าดังกล่าว
จากการตรวจสอบบริษัทฯ โดยละเอียด พบว่า
- ฝ่าฝืนคำสั่งปิดโรงงาน มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 55 วรรคหนึ่ง จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละ 5,000 บาทจนกว่าจะหยุดประกอบการ
- ทำลายหรือเคลื่อนย้ายของกลางที่ยึดอายัดเป็นความผิด ตามมาตรา 141 และมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- จากการเก็บตัวอย่าง น้ำและดินบริเวณบ่อน้ำขนาดใหญ่ พบการปนเปื้อนโลหะหนักและเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นวัตถุอันตราย โดยไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นความผิดตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หลังจากนี้ นางสาวฐิติภัสร์ เตรียมเรียกนายทุนจีนเจ้าของกิจการ เข้ามาทำความเข้าใจ และรับทราบข้อกล่าวหา หากพบมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ หรือ มีการข่มขู่ชาวบ้าน จะเพิ่มข้อหาและดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ไม่อยากให้โรงงานอื่นเอาเป็นตัวอย่าง
สำหรับการเข้าตรวจสอบโรงงานครั้งนี้ ไม่พบเจ้าของกิจการ พบแต่ผู้ประสานงาน และคนงานในแคมป์คนงานเท่านั้น โดยวันนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมตรวจสอบ ได้แก่ นางสาวจุฑามาศ บัวเผื่อน นายอำเภอศรีมหาโพธิ พร้อมปลัดอำเภอศรีมหาโพธิ ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง นายธนารักษ์ พิทักษา ผู้ช่วยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีภูธรระเบาะไผ่ เพื่อร่วมกันกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีก
จากนั้น เจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯ ได้เดินทางไปลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจภูธรระเบาะไผ่ เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี #ปราจีนบุรี #กากอุตสาหกรรม #saveอุตสาหกรรมไทย