วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เยือนเมืองเหนือ ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2567 มุ่งขับเคลื่อนนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่” พร้อมย้ำ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ติดตามการเฝ้าระวังมลพิษในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะเรื่องมลพิษอากาศ รวมทั้งสั่งการให้เฝ้าระวังการปล่อยมลพิษจากโรงงานอย่างใกล้ชิด ประสานงานร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) หลังตรวจเยื่ยมศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคเหนือ กรมโรงงานฯ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ นายเศรษฐรัชต์ เลือดสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดี รักษาราชการแทน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายธีรทัศน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายปณตสรรค์ สูจยานนท์ ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 1 และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมลงพื้นที่
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบหลายจังหวัดในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ในช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนเมษายน ของทุกปี มีค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน โดยเฉพาะที่จังหวัด #เชียงราย #เชียงใหม่ ที่มีค่า PM 2.5 สูงสุดกว่า 200 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังระดับประเทศ ที่ส่งผลกระทบให้กับระบบต่างๆ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่” จึงสั่งการให้ กรอ. และ สอจ. เตรียมมาตรการเร่งรัดแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ กำชับให้ผู้ประกอบกิจการโรงงาน จัดทำแผนตรวจ กำกับ ดูแลโรงงานเชิงรุก แจ้งเตือนเหตุอัคคีภัยและอุบัติเหตุจากการประกอบกิจการ เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน พร้อมย้ำมาตรการ “สู้ เซฟ สร้าง” คือ “สู้” กับมลพิษอากาศ เน้นการควบคุมที่แหล่งกำเนิด กำกับดูแล และเฝ้าระวังโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มปล่อยฝุ่นละอองสูง ตามแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ในการควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง เพื่อ “เซฟ” พี่น้องประชาชนและผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ดี สร้างความเท่าเทียมในอุตสาหกรรมไทย และส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงแหล่งทุนและโอกาสทางธุรกิจ นำสู่การ “สร้าง” อุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่ ขับเคลือนเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก
นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดี รักษาราชการแทน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคเหนือ มีภารกิจเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศและทางน้ำจากโรงงาน ตรวจสอบการระบายมลพิษ โดยศูนย์เชียงใหม่มีการเฝ้าระวังโรงงานที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก และประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยระบบเฝ้าระวังมลพิษระยะไกล หรือ POMS ปัจจุบันมีโรงงานที่เชื่อมต่อข้อมูลในการตรวจวัด CEMS จำนวน 250 โรงงาน 533 ปล่อง และ BOD/COD Online จำนวน 330 โรง และในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์เชียงใหม่มีโครงการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังและตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ดังนี้
1) โครงการเฝ้าระวังและตรวจวัด PM2.5 จากปล่องระบายและบรรยากาศ และศึกษาการกระจายตัวของมลพิษด้วยแบบจำลองแอร์หมอด (AERMOD)
2) ตรวจวัดคุณภาพอากาศจากการประกอบกิจการที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน
3) ตรวจวัดฝุ่นละออง ในพื้นที่ อ.เมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร ในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานผลิตน้ำตาลจากอ้อย
4) ดำเนินการจัดอบรมเพิ่มศักยภาพ ให้แก่ เจ้าหน้าที่ สอจ. 17 จังหวัด และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
และมีโครงการเฝ้าระวัง และติดตามคุณภาพของน้ำจากการใช้ของประชาชนและภาคอุตสาหกรรม จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ แม่น้ำกวง และคลองแม่ข่า
“การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมผู้ประกอบการและดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #saveอุตสาหกรรมไทย #saveสิ่งแวดล้อม #ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคเหนือ #มลพิษทางอากาศ #มลพิษ #เชียงใหม่