วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมาย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกัทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นางสาวปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิ่งแวดล้อมโรงงาน เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา (สอจ.ฉะเชิงเทรา) เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษภาคตะวันออก กรมโรงงานอุตสาหกรรม (ศวภ.ตอ.) สํานักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ต.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ตรวจกำกับดูแลโรงงานรีไซเคิล 2 แห่ง ช่วงเช้าก่อนเข้าตรวจโรงงานเถื่อนที่อยู่ใกล้เคียงกัน โดยมีผู้ดูแลโรงงานชาวจีนเป็นผู้ให้ข้อมูลและเป็นผู้นำตรวจพื้นที่โรงงานในครั้งนี้
โรงงานแห่งแรก ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 ประกอบกิจการบดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และหล่อหลอมโลหะทั่วไป เช่น เศษทองแดง เศษทองเหลือ และขี้ตะกรันทองแดง และรวบรวมแบตเตอรี่เก่าชนิดตะกั่ว-กรดที่ใช้แล้ว ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างถูกคำสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน ตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
จากการตรวจสอบโรงงาน พบว่า
- โรงงานติดตั้งเครื่องจักรไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาต และอุปกรณ์เครื่องจักรบางส่วนชำรุดเสียหาย อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย
- ไม่ปฏิบัติตามตามกฎหมายโรงงานด้านสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วน ได้แก่ การแจ้งการมีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน การตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน การระบายน้ำใช้ของคนงานลงสู่บ่อกักเก็บน้ำภายในโรงงาน มีการกองวัตถุดิบและสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วไว้นอกอาคารกลางแจ้ง
- ใช้อาคารโรงงานโดยไม่แจ้งเพิ่มพื้นที่อาคารโรงงานและไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาคารดังกล่าวคร่อมพื้นที่โฉนดของอีกเจ้าของหนึ่ง
- มีการติดตั้งเครื่องจักรสำหรับใช้ในการบดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภายในอาคารซึ่งเป็นส่วนที่ยังไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ อาจเป็นเหตุให้ถูกคำสั่งหยุดโรงงานตามมาตรา 39 วรรคหนึ่งต่อไป
โรงงานแห่งที่สอง ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 ประกอบกิจการนำเศษสายไฟทุกชนิดที่ไม่เป็นของเสียอันตรายมาผ่านกรรมวิธีบดย่อย
จากการตรวจสอบโรงงาน พบว่า
- วัตถุดิบที่รับเข้ามาดำเนินการไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต พบกองวัสดุและเศษสายไฟอัดก้อน ซึ่งมีเศษแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ปนอยู่ด้วย ซึ่งเข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และไม่สามารถแสดงรายละเอียดของแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ตรวจพบภายในโรงงานได้ว่ามาจากแหล่งกำเนิดใดและได้มาจากภายในประเทศหรือต่างประเทศ
- พบการติดตั้งเครื่องจักรไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ กำลังแรงม้าเครื่องจักรไม่เกินตามที่ได้รับอนุญาต
- พบกองเศษเปลือกสายไฟที่ผ่านการบดย่อยแล้ว และกากตะกอนดิน ภายนอกอาคารโดยไม่มีวัสดุปกคลุม
- มีการกองถ่านหิน หินปูน และขี้เตาภายในอาคารที่เปิดโล่ง
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 อาจเป็นเหตุให้ถูกคำสั่งปรับปรุงโรงงานตามมาตรา 37 ต่อไป
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจสอบโรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทราโดยแจ้งล่วงหน้าระยะสั้น พบว่า โรงงานทั้ง 2 แห่ง มีการประกอบกิจการไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต โดยคณะเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบกิจการรับทราบผลการตรวจพบ และจะอาศัยอำนาจตามมาตรา 37 และ/หรือ มาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ออกคำสั่งให้โรงงานดำเนินการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้โรงงาน ชุมชน และสังคม สามารถอยู่ร่วมกันอย่างได้อย่างยั่งยืนตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม
หลังจากนั้น คณะเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจแปลงยาว เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #SAVEอุตสาหกรรมไทย #แปลงยาว #ฉะเชิงเทรา #ของเสีย #รีไซเคิล