วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมาย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกัทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นางสาวปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิ่งแวดล้อมโรงงาน เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา (สอจ.ฉะเชิงเทรา) เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษภาคตะวันออก กรมโรงงานอุตสาหกรรม (ศวภ.ตอ.) สํานักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นโรงงานเถื่อน ในตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบกิจการการรีไซเคิลโลหะ เช่น เศษทองแดง ทองเหลือ ฯ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว เศษตะกรันโลหะผสม(Solder Scraps) รวมถึงซื้อ-ขาย เศษวัสดุจากการผลิตที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
โดยคณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบค้นรายละเอียด ดังนี้
- พบการก่อสร้างอาคารโรงงาน จำนวน 9 หลัง ขณะตรวจสอบไม่พบการประกอบกิจการ
- ภายในพบเครื่องจักรและร่องรอยการใช้เครื่องจักรประกอบกิจการอยู่ภายในอาคารและภายนอกอาคาร
- พบกองวัตถุดิบผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเป็นจำนวนมากอยู่บริเวณภายในอาคารและภายนอกอาคาร
- ขณะตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ศวภ.ตอ. ได้เก็บตัวอย่างกากอุตสาหกรรม นำไปตรวจ วัด วิเคราะห์ฯ พบเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 ตามบัญชี 5.2 ของเสียเคมีวัตถุ ดังนี้
ลำดับที่ 2.2 ของเสียที่มีองค์ประกอบหรือสารปนเปื้อนดังต่อไปนี้ พลวงและสารประกอบพลวง แบริเรียมและสารประกอบแบริเรียม แคดเมียม และสารประกอบแคดเมียม ตะกั่วและสารประกอบตะกั่ว ซีลีเนียมและสารประกอบซีลีเนียม เทลูเรียม และสารประกอบเทลูเรียม (ไม่รวมของเสียในรูปก้อนโลหะ)
ลำดับที่ 2.3 ของเสียที่มีองค์ประกอบและสารปนเปื้อนดังต่อไปนี้ สารหนูและสารประกอบสารหนู ปรอทและสารประกอบปรอท แทลเลียมและสารประกอบแทลเลียม
และลำดับที่ 2.4 ของเสียที่มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ โลหะคาร์บอนิล สารประกอบโครเมียมเฮกซาวาเลนท์
จึงถือได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง และมาตรา 12 วรรคสอง อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และความผิดตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
- เจ้าหน้าที่ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 (3) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และมาตรา 54 (3) แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 อายัดวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการ เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #SAVEอุตสาหกรรมไทย #แปลงยาว #ฉะเชิงเทรา #ของเสีย #รีไซเคิล