นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเปิดการประชุมระดับสูงภาคีอนุสัญญาเวียนนา ครั้งที่ 13 (COP13) และรัฐภาคีพิธีสารมอนทรีออล ครั้งที่ 36 (MOP36) (วันที่ 31 ตุลาคม 2567) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระหว่างประเทศภาคีสมาชิก ซึ่งมีผู้แทนจากรัฐภาคีกว่า 148 ประเทศเข้าร่วมการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น รายงานการศึกษาทั้งด้านเทคนิคและวิชาการ การนำเสนอเทคโนโลยีสารทดแทนที่มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนต่ำและประหยัดพลังงาน รายงานการเงินและงบประมาณกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ประเทศไทยให้ความสําคัญในเรื่องสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของพิธีสารมอนทรีออล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2532 เพื่อแสดงความรับผิดชอบและให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลก โดยได้ดำเนินแนวทางเชิงรุกในการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนได้เร็วกว่าที่พิธีสารมอนทรีออลกำหนดไว้ ด้วยการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ซึ่งประเทศไทยมีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับความต้องการภายในประเทศและประเทศคู่ค้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและสารทดแทนที่มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนต่ำและประหยัดพลังงานภายในประเทศ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวทันบริบทโลก ผ่านกลไกกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ซึ่งมีกรอบเงินทุนการดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารเอชซีเอฟซี ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ. 2563 – 2568) กว่า 5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ประกอบกับประเทศไทยยังได้มีการใช้มาตรการทางกฎหมายโดยการประกาศห้ามใช้สารซี เอฟ ซี (Chlorofluorocarbons (CFCs)) ในการผลิตอุปกรณ์ทำความเย็น และห้ามนำเข้าอุปกรณ์ทำความเย็นที่ใช้สาร CFCs เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการควบคุมและกำกับดูแล นอกจากนี้ ยังได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารมอนทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี เพื่อลดการใช้สารเอช เอฟ ซี Hydrofluorocarbons (HFCs) โดยส่วนใหญ่ใช้เป็นสารทําความเย็นในอุปกรณ์ทําความเย็น ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ถือเป็นความท้าทายของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนให้เร็วกว่าข้อกำหนดตามพิธีสารมอนทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี ที่กำหนดให้ปี 2572 ต้องลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 10% ปี 2578 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 30% ปี 2583 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 50% และในปี 2588 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 80% เพื่อการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่ร้อยละ 30 – 40 ภายในปี 2573 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608
“ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือดำเนินงานกับภาคีต่าง ๆ และประชาคมโลก เพื่อแสวงหาแนวทางที่สร้างสรรค์และยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรอ #DIW #MIND #กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย
#SAVEอุตสาหกรรมไทย #โอโซน #COP13 #MOP36