วันที่ 25 ตุลาคม 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมด้วย นายรินทวัฒน์ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม นายปณตสรรค์ สูจยานนท์ ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 1 นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (อสจ.อย.) ให้การต้อนรับ
รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ และคณะ ได้ลงพื้นที่อำเภอภาชีและอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมใน 2 พื้นที่ คือ
1) โกดังเก็บของเสียและวัตถุอันตราย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบการลักลอบเก็บและทิ้งกากอุตสาหกรรมประมาณ 7,250 ตัน ภายในอาคารโกดังเก็บของเสียอันตรายจำนวน 5 โกดัง และถูกอำพรางโดยเทน้ำกรดทิ้งในบ่อน้ำแล้วกลบทับด้วยเศษเปลือกสายไฟ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ถูกลอบวางเพลิงโดยหวังผลให้กลายเป็นทะเลเพลิง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เกิดเหตุเพลิงไหม้ซ้ำ ทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และกรมโรงงานฯ ได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ ของหน่วยงานจำนวน 6.9 ล้านบาท เพื่อกำจัดของเสียจำพวกกรด 800 ตัน โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2567 จนถึง 25 ธันวาคม 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น
2) บริษัท เอกอุทัย จำกัด อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบการเททิ้งของเสียบริเวณหน้าพื้นที่โรงงาน มีร่องรอยการเททิ้งของเหลวที่เป็นวัตถุอันตรายที่มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นเต็มและพบการลักลอบฝังถังสารเคมีในพื้นที่บริเวณโรงงาน ในเบื้องต้นประเมินปริมาณของเสียตกค้าง 7,480 ตัน ซึ่งการประเมินของเสียที่ถูกฝังกลบจะดำเนินการในระยะต่อไป ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน พร้อมดำเนินคดี และสั่งการให้บริษัทฯ นำกากของเสียและสารอันตรายไปกำจัดและบำบัดให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จึงได้จัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท เพื่อกำจัดของเสียจำพวกกรด 400 ตัน โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2567 จนถึง 11 มกราคม 2568 เพื่อระงับการรั่วไหลของสารเคมีและบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น
“กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รัดกุม และครอบคลุมถึงการบรรเทาเยียวผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการยกร่าง กฎหมายระดับพระราชบัญญัติเพื่อการจัดการกากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการตรวจสอบกำกับดูแล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งกากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเชิงรุกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตรวจกำกับ สั่งการ เพิกถอนใบอนุญาต และขอยืนยันว่าจะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวปิดท้าย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #เอกอุทัย #saveอุตสาหกรรมไทย