วันที่ 25 กันยายน 2567 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พร้อมด้วย นางนุชนาถ สุพรรณศรี นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ร่วมการประชุม คณะทำงานกำหนดมาตรการกำกับควบคุบคุมการนำเข้าเศษกระดาษและหลักเกณฑ์การพิจารณาระดับสิ่งปะปนของเศษกระดาษที่จะอนุญาตให้นำเข้า ครั้งที่ 1/2567 เพื่อกำหนดมาตรการกำกับควบคุมการนำเข้าเศษกระดาษจากต่างประเทศไม่ให้กระทบต่อกลไกการนำเศษกระดาษภายในประเทศมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบใหม่ และกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาระดับสิ่งปะปนของเศษกระดาษที่จะอนุญาตให้นำเข้า เพื่อบังคับใช้ภายใต้กฎหมาย/กฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเยื่อและกระดาษ) สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 กรมควบคุมมลพิษ
ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าเศษกระดาษเพื่อเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมรีไซเคิลกระดาษ เป็นสินค้าในพิกัดอัตราศุลกากร 4707 คือ กระดาษหรือกระดาษแข็งที่นำกลับคืนมาใช้ได้อีก (เศษและของที่ใช้ไม่ได้) เนื่องจากกระดาษจากยุโรป สหรัฐอเมริกา ทำมาจากไม้สนมีคุณสมบัติเป็นเยื่อใยยาว โดยจากสถิติการนำเข้าในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 มีแนวโน้มการนำเข้าเศษกระดาษที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยควรกำหนดมาตรฐานคุณสมบัติของเศษกระดาษที่จะนำเข้า เพื่อไม่ต้องการการนำเข้าขยะ จึงควรมีการควบคุมระดับสิ่งปะปน
โดยในที่ประชุมได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาระดับสิ่งปะปนของเศษกระดาษที่จะอนุญาตให้นำเข้าและแนวทางการปฏิบัติ โดยเทียบจุดเด่น-จุดอ่อน-ความเข้มงวดของมาตรฐาน ข้อกำหนดระดับสิ่งปะปนของเศษกระดาษในประเทศต้นทางที่ไทยมีการนำเข้าเศษกระดาษ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ในการประชุมได้พิจารณาเห็นว่า ผู้ประกอบการมีการนำเข้าเศษกระดาษจากยุโรปจำนวนมาก จึงเห็นควรนำข้อกำหนดของยุโรปมาใช้กับประเทศไทย พร้อมกำหนดชนิดของเศษกระดาษที่จะอนุญาตให้นำเข้า ตามพิกัด ดังนี้ 4707.10 (กระดาษคราฟต์ ที่ไม่ได้ฟอกหรือชนิดลูกฟูก) 4707.20 (กระดาษหรือกระดาษแข็งชนิดอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากเยื่อเคมีที่ฟอกแล้ว และไม่ได้ใส่สี) 4707.30 (ระดาษหรือกระดาษแข็งซึ่งส่วนใหญ่ทำจากเยื่อบดเชิงกล) และ 4707.90 (กระดาษหรือกระดาษแข็งอื่นๆ รวมถึงเศษและของที่ใช้ไม่ได้ซึ่งไม่ได้แยก) โดยสิ่งที่อนุญาตให้มีปะปนได้ เช่น พลาสติก โลหะ แก้ว วัสดุสังเคราะห์ ไม้ ดิน แต่ต้องไม่เกินหลักเกณฑ์ที่กำหนด และสิ่งต้องห้ามให้มีปะปน ได้แก่ สารเคมีหรือวัตถุอันตราย ของเสียติดเชื้อ ของเสียอันตราย ขยะอาหาร และ กัมตภาพรังสี
ซึ่ง กรอ. ได้เสนอว่า การนำเข้าให้เฉพาะที่มีความจำเป็นเท่านั้น โดย กรอ. และ คพ. จะนำหลักเกณฑ์พิจารณาระดับสิ่งปะปนของเศษกระดาษ ไปหารือกับกรมศุลกากร ก่อน หากไม่สามารถนำหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว มาปฏิบัติได้จริง เห็นควรห้ามนำเข้าเศษกระดาษรวม พิกัด 4707.90 เนื่องจาก เศษกระดาษชนิดนี้ไม่ได้มีการคัดแยกมาจากต้นทาง สุดท้ายต้องกลายเป็นขยะที่ต้องนำไปกำจัดเป็นภาระต่อประเทศ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการใช้เศษกระดาษภายในประเทศ มุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #saveอุตสาหกรรมไทย #เศษกระดาษ #กรมควบคุมมลพิษ