วันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจตรวจข้อเท็จจริง กรณีการประกอบกิจการโรงงานก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ของบริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ตำบลโคกสูง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ประกอบกิจการ ทำน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนจากยางรถยนต์ และพลาสติกใช้แล้ว โดยมี นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย เจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม (กกอ.กรอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม นายธงชัย เมืองสนธิ์ อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น (สอจ.ขอนแก่น) นางเนตรนภา ครโสภา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศวภ.ตอน.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
โดยระหว่างการเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ มีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้มายื่นหนังสือร้องเรียนบริเวณด้านหน้าโรงงาน ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีข้อเรียกร้อง จำนวน 5 ประเด็น ดังนี้
1) โรงงานมีการทำผิดเงื่อนไขของกรมโรงงานฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้านได้
2) การทำประชาคมกับชาวบ้านไม่กว้างขวางและไม่โปร่งใส
3) เขตอำเภออุบลรัตน์เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวไม่สมควรมีโรงงานอุตสาหกรรม
4) ขอย้ายโรงงานออกจากพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งกับชาวบ้าน เพราะ บ. ไบโอเทคฯ เป็นของนายทุนต่างชาติ และจ้างคนงานพม่า ไม่มีการสร้างงานหรือรายได้ให้กับชาวบ้านโคกสูง
5) ชาวบ้านจะร้องเรียนองค์กรอิสระต่างๆ กรณีการอนุญาตให้ตั้งโรงงาน
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบ บริเวณบนลานคอนกรีตและลานดินมีการจัดเก็บวัตถุดิบไว้อยู่ประมาณ 500 ตัน ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน โดยพื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ต้องมีหลังคาคลุมและพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารผลิต A1 พบเตาปฏิกรณ์ จำนวน 4 เตา โดยระบบบำบัดอากาศที่ต่อกับชุดเตาปฏิกรณ์ ไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน ที่กำหนดให้ต้องมีและใช้ระบบขจัดฝุ่นละออง กลิ่นไอสารเคมีที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตที่มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอที่จะขจัดได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญหรือเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง รวมทั้งต้องมีมาตรการป้องกันด้านความปลอดภัยจาก ฝุ่นละออง เสียง ความสั่นสะเทือน ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน โดยไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนหรือเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง
อาคารเก็บรวบรวมแก๊ส พบถังเก็บแก๊ส จำนวน 2 ถัง ถังละ 100 ลบ.ม. บริเวณวาล์วที่ใช้ในการควบคุมแก๊ส มีการรั่วไหลของแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ ศวภ.ตอน. จึงทำการตรวจวัดค่า H2S พบว่ามีค่า 20 ppm ,170 ppm , 130 ppm ตามลำดับ ซึ่งมีค่าสูง อาคารเก็บผงเขม่า Carbon black ผนังอาคารชำรุดและปิดไม่สนิท และพบว่า โรงงานยังไม่ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน การตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน การแจ้งข้อมูล รวมทั้งการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน และรายงานเสนอมาตรการการควบคุมและมาตรการลดการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน พ.ศ. 2559 ซึ่งก่อนหน้านี้ สอจ.ขอนแก่น ได้ออกหนังสือสั่งให้ บ. โบโอเทค อินดัสทรีส์ ปรับปรุงแก้ไขโรงงาน ตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ข้อ โดยให้รวบรวมผงเขม่าดำ (Carbon black) ที่ฟุ้งกระจายอยู่ตามพื้นบริเวณโดยรอบโรงงานเข้าสู่อาคารจัดเก็บอย่างมิดชิดโดยให้ดำเนินการทันที และปรับปรุงบ่อรวบรวมน้ำฝนปนเปื้อนให้มีขนาดเพียงพอ และติดตั้งวัสดุรองพื้น ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมโรงงานฯ จึงให้ ศวภ.ตอน. ดำเนินการตรวจสอบและเก็บตัวอย่างจากจุดต่าง ๆ นำไปตรวจวัดที่ห้องปฏิบัติการ ในการนี่ได้สั่งการให้โรงงานเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไข และจะได้สั่งการให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จ และให้ตรวจสอบซ้ำก่อนขออนุญาตประกอบกิจการอีกครั้ง
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ #ขอนแก่น