วันที่ 5 สิงหาคม 2567 เวลา 08.30 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมการสัมมนาวิชาการ “อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม โจทย์ท้าทายที่สังคมไทยต้องรับมือให้ได้” พร้อมด้วย นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติสํานักงานตํารวจแห่งชาติ นายธนาธร ตรงสิทธิวิทู ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชํานัญ ศิริรักษ์ เครือข่ายนักกฎหมายจิตอาสาเพื่อสังคม ร่วมเสวนา ดําเนินรายการโดย นายกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าว รายการข่าวสามมิติ จัดโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สนับสนุนการจัดงานโดย แผนงานสนับสนุนพลเมืองสู้มลพิษอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวว่า สถานการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นถือเป็น อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม และเป็นกรณีแรกที่ภาครัฐสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงหรือเจ้าของกิจการตัวจริงมาดำเนินคดีทางกฎหมายได้ ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้กระทำความผิดต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย และกรมโรงงานได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พรบ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ให้ครอบคลุมมิติด้านการกำกับดูแลที่รัดกุมเพิ่มขึ้น บทกำหนดโทษที่สูงขึ้นทั้งโทษจำและโทษปรับ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่าง ๆ
การสัมมนาวิชาการ ในครั้งนี้มี นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุมทิพวรรณ 1 โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ ถนนรัตนาธิเบศร์ ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี
โดยวัตถุประสงค์ของการสัมมนา เพื่อนําเสนอมุมมองของผู้เกี่ยวข้องในส่วนข้อมูลต่าง ๆ สถานการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น ต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ประชาชน และประเทศ รวมทั้งการดำเนินการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม คือการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างมีนัยสําคัญต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เช่น การลักลอบทิ้งหรือฝังกากของเสียอันตราย การลักลอบเทน้ำเสีย ปนเปื้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เป็นต้น การก่ออาชญากรรมลักษณะนี้อาจเริ่มต้นจากตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ในการสนับสนุนอาจจะอยู่ในรูปแบบรู้เห็นเป็นใจ ปล่อยปละละเลยให้เกิดขึ้น การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และการหาช่องโหว่ของกฎหมาย เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยน แสวงหาแนวทาง วิธีการ และองค์ประกอบสำคัญ นําไปสู่การเยียวยาผลกระทบจากอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น การรับมือกับปัญหาที่กําลังเกิดขึ้น และการร่วมกันป้องกันให้ปัญหาอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมลดน้อยลงหรือไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #กากอุตสาหกรรม #มูลนิธิบูรณะนิเวศ #สสส