วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นำทีมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจติดตามการออกคำสั่งตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้บริษัท ซี ที สตีล จำกัด ประกอบกิจการ หลอมหล่อเศษโลหะจากเศษอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ตั้งอยู่ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้หยุดการประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดทันที เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เนื่องจากเป็นการประกอบกิจการที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความเสียหาย และเป็นอันตรายอย่างร้ายแรง รวมทั้ง ได้สั่งการให้โรงงานชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบทุกประเภททุกชนิดที่ตรวจพบ และให้จัดทำแผนฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบกิจการ พร้อมทั้งให้จัดเก็บวัตถุดิบทั้งหมดไว้ภายในอาคาร โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยมี นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมตรวจสอบด้วย
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานในวันนี้ ปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้
1) มีการเคลื่อนย้ายกองวัตถุดิบบริเวณลานโรงงาน เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตะกรันเตาหลอม หน้าจอโทรศัพท์ หม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น ไปเก็บไว้ภายในอาคาร
2) พบมีกองวัตถุดิบหน้าเตาหลอมหายไป จึงตรวจภาพวงจรปิด มีการหลอมวัตถุดิบ และระบายอากาศเสียโดยไม่ผ่านระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ
3) ผู้แทนโรงงานแจ้งว่าจะมีการขยายโรงงานเพิ่มเติมสำหรับเก็บกองวัตถุดิบ คณะผู้ตรวจสอบจึงสั่งห้ามดำเนินการจนกว่าจะมีการเสนอแผนการการปรับปรุงและได้รับความเห็นชอบแผนดังกล่าวก่อน
4) พบมีการสูบของเหลวสีเขียวในบ่อดินเล็กไปใส่ในบ่อใหญ่ เพื่อการปรับผิวบ่อแล้วสร้างเป็นบ่อคอนกรีต คณะผู้ตรวจสอบจึงสั่งหยุดดำเนินการทันที
5) สภาพอาคารและระบบบำบัดอากาศมีสภาพไม่ปลอดภัยต่อการใช้งาน
6)ไม่มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน
ดังนั้น อธิบดีกรมโรงงานฯ จึงสั่งการผู้แทนโรงงานให้ปฏิบัติตามคำสั่งให้หยุดการประกอบกิจการโรงงานอย่างเคร่งครัด และจัดทำแผนฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบกิจการ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ตามคำสั่งที่ได้ออกไปแล้วนั้น เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความเสียหาย และเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อไป พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการ ผูกมัดประทับตรา เพื่อห้ามเดินเครื่องจักร จำนวน 5 เครื่อง หากฝ่าฝืนทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เครื่องจักรกลับทำงานได้อีก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา #กากอุตสาหกรรม #ปทส #พนมสารคาม