วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.00 น. ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อขับเคลื่อนการสิ้นสุดการเป็นของเสีย (End-of-Waste) โดยมี ดร.ปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน นางสาวนวพร สงวนหมู่ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นายเอกบุตร อุตมพงศ์ รักษาการนักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ดร.อุมา วิรัตน์สกุลชัย ผู้ประสานงานโครงการฯ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNIDO (United Nations Industrial Development Organization) นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร นายเฉลิม โกกนุทาภรณ์ รองประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร เจ้าหน้าที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1012 ชั้น 10 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
การประชุมในครั้งนี้ เป็นการหารือถึงหลักเกณฑ์และขั้นตอนการปฏิบัติร่วมกัน ในการผลักดันการเพิ่มมูลค่ากากของเสียอุตสาหกรรมให้เป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ สู่การสิ้นสุดการเป็นของเสียตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยกำหนดหลักเกณฑ์การสิ้นสุดการเป็นของเสีย ประกอบด้วย 4 เงื่อนไขหลัก ดังนี้
(1) เป็นวัสดุที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานเฉพาะ
(2) มีตลาดรองรับหรือความต้องการใช้งานที่ชัดเจน
(3) การใช้งานจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนด และมาตรฐาน
(4) ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัย และสิ่งแวดล้อมในภาพรวม
ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย UNIDO และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่ากากของเสียอุตสาหกรรม เพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ ตามแนวคิดการสิ้นสุดความเป็นของเสีย ซึ่งจะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบครบวงจร ที่มีการบริหารจัดการตั้งแต่วัตถุดิบต้นทาง กระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ โดยมีโครงการนำร่องที่สำคัญ อาทิ
(1) การนำแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้วกลับมาผลิตเป็นแผ่นยิปซัม สำหรับการใช้ในงานก่อสร้าง ภายใต้โครงการ Provision of services relative to end-of-waste management in Thailand focusing on Plaster Mold waste.
(2) การผลิตสารละลายไบโอโซเดียมซิลิเกตและไบโอโพแทสเซียมซิลิเกตอย่างยั่งยืนจากเถ้าแกลบที่เหลือทิ้งจากโรงไฟฟ้าชีวมวล สำหรับการใช้ในภาคเกษตรกรรม ภายใต้โครงการ Provision of services for studying and preparing the end-of-waste criteria for rice husk ash and demonstrate the production of products from rice husk ash.
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และร่วมรับฟังข้อห่วงกังวลจากผู้แทนภาคอุตสาหกรรมต่อการพัฒนาเกณฑ์สิ้นสุดการเป็นของเสียในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการพิจารณาเกณฑ์ วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อร่วมส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและนำข้อมูลที่ได้รับไปปรับใช้เป็นแนวทางการสิ้นสุดความเป็นของเสีย (End-of-Waste) ของแต่ละประเภทของเสียให้มีความเหมาะสมต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #กากอุตสาหกรรม #waste #วัสดุหมุนเวียน #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #UNIDO #การสิ้นสุดการเป็นของเสีย #EndofWaste #ผลิตภัณฑ์ใหม่ #เศรษฐกิจหมุนเวียน #CircularEconomy #แม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้ว #แผ่นยิปซัม #ไบโอโซเดียมซิลิเกต #ไบโอโพแทสเซียมซิลิเกต #เถ้าแกลบ