วันนี้ (12 กรกฎาคม 2567) เวลา 10.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางอลิสรา รังษีภโนดร ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการวัตถุอันตราย และเจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย ร่วมแถลงผลการสืบสวนและตรวจยึดสารโทลูอีน (Toluene) เคมีภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จำนวน 90 ตัน โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมกับ กรมศุลกากร โดย นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร., พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ปส., สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดย พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ณ คลังสินค้าอันตราย (JWD) สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
โดยการตรวจยึดดังกล่าวเป็นผลจากเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากรได้ประสานเจ้าของสินค้า ขอเปิดตู้สินค้าผ่านแดนเข้าตรวจสอบใบตราส่งสินค้าผ่านแดนสำแดงชนิดสินค้า “สารโทลูอีน (Toluene)” บรรจุอยู่ในตู้คอนเทเนอร์ จำนวน 6 ตู้ รวมจำนวนประมาณ 90 ตัน ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จัดเป็นของต้องกำกัด ต้องมีใบอนุญาตในการผ่านแดน ขนส่งจากประเทศเกาหลีใต้ เพื่อนำผ่านไปยังประเทศเมียนมา จึงได้แจ้งกักสินค้าเพื่อตรวจสอบ ประกอบกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังได้ตรวจสอบพบว่าสินค้าผ่านแดนดังกล่าวมิได้ขออนุญาตนำผ่าน
อีกทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้รับแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดี ว่า จะมีการนำเข้าสารโทลูอีน (Toluene) จำนวน 90 ตันโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย โดยสินค้าเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านประเทศไทย และออกที่ศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก
นายกรัฐมนตรี แถลงว่า รัฐบาลมีนโยบายทำลายวงจรยาเสพติดในทุกมิติ โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจในภาพรวม รัฐบาลจึงกำชับให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) บูรณาการการสืบสวนปราบปรามอย่างเด็ดขาด โดยมี สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหน้าที่ในการสืบสวนและป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและประสานงาน กรมศุลกากรทำหน้าที่ในการตรวจสอบควบคุมการนำเข้า – ส่งออก ผ่านแดน – ถ่ายลำ รวมไปถึงพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจค้นและการประสานงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการใช้สารตั้งต้นรวมไปถึงการออกกฎระเบียบและมาตรการควบคุมการใช้สารตั้งต้น ตรวจสอบติดตามการใช้สารตั้งต้น สารเคมี เพื่อลดการนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ส. ทำหน้าที่ในการควบคุมนโยบายการปราบปราม ยาเสพติดของรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ รวมไปถึงการสนับสนุนส่วนราชการอื่นในการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด ดังนั้นการบูรณาการร่วมกันจึงสำคัญและจำเป็นในการจับกุมกลุ่มนักค้ายาเสพติดระดับชาติ
ตามนโยบายการปราบปรามยาเสพติด เน้นใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อทำลายเครือข่ายยาเสพติดอย่างจริงจังทั้งระบบประกอบกับนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มุ่งปราบปรามจับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ และขยายผลเครือข่ายที่จับกุมได้ทุกระดับอย่างจริงจังทุกพื้นที่ รวมถึงการทำลายกลุ่มขบวนการ ค้ายาเสพติดและเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมอื่น สกัดกั้นในการลักลอบนำสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ผลิตยาเสพติด เพื่อเป็นการกวาดล้างกลุ่มหรือเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนให้หมดสิ้น โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาด โดยเพิ่มมาตรการและแนวทางในการป้องกันการลักลอบสารตั้งต้นยาเสพติดในอนาคต และเพิ่มมาตรการการตรวจสอบ และควบคุมการนำเข้าส่งออก อีกทั้งมุ่งเน้นในการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศระดับภูมิภาค รวมไปถึงการให้ความรู้และรณรงค์การป้องกันยาเสพติดแก่ประชาชน
หมายเหตุ: ของต้องกำกัด หมายถึง สินค้าที่มีกฎหมายกำหนดว่าหากจะมีการนำเข้า-ส่งออกหรือผ่านราชอาณาจักรจะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น ๆ เช่น ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้าและส่งออก ต้องปฏิบัติตามประกาศอันเกี่ยวกับฉลากหรือใบรับรองการวิเคราะห์ หรือเอกสารกำกับยา เป็นต้น