วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นางสาวนวพร สงวนหมู่ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นางสาววิชุดา สัมฤทธิ์ผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันตก และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมคณะนายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบการของ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด และพื้นที่ของ นายสมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
จากนั้นในเวลา 13.30 น. อธิบดีกรมโรงงานฯ ร่วมประชุมหารือกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อรับฟังผลการดำเนินการแก้ไขปัญหา กรณี การประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต ๘ ราชบุรี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ณ ศาลากลางจังหวัดราชบุรี ในการประชุมได้มีการพิจารณาความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบกิจการโรงงาน ที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ และการดำเนินคดีกับผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีการแก้ไขปัญหามลพิษ และกระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหาย จากการประกอบกิจการโรงงาน การดำเนินการขนย้ายสารเคมี เพื่อบรรเทาความเสียหาย โดยโครงการจ้างเหมาบริการกำจัด/บำบัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในพื้นที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โครงการฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน ของสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี และโครงการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี พร้อมการเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีแพ่งต่อบุคคลที่ก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษโดยผู้เสียหายต้องเป็นผู้ฟ้องร้องด้วยตนเอง ซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหายที่มีฐานะยากจนไม่ได้รับการเยียวยา และกรณีการดำเนินการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากปัญหามลพิษ โดยการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรม และการวางหลักประกันความเสียหาย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #ผู้ตรวจการแผ่นดิน #แวกซ์กาเบ็จ #กากอุตสาหกรรม #ของเสียอุตสาหกรรม #ราชบุรีโมเดล #ราชบุรี