วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมรับฟังความเห็น เพื่อกำหนดแนวทางการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ร่วมด้วย นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความเห็น จำนวน 50 คน ณ ห้องประชุม 509 อาคารกรมโรงงานอุตสาหกรรม และทางระบบ ZOOM จำนวน 100 คน
การประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ได้มีการบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว บทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป หรือไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจในการบังคับใช้ไว้ กรมโรงงานฯ จึงเห็นสมควรให้มีการพิจารณาทบทวนกฎหมาย โดยมีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 30 ซึ่งเดิมมาตรานี้กฎหมายไม่ให้อำนาจในการสั่งการกับผู้ดำเนินการเขตประกอบการอุตสาหกรรมไว้ จึงได้มีการแก้ไข เพื่อการควบคุม กำกับ ดูแล โดยบัญญัติให้อำนาจสั่งการกับผู้ดำเนินการเขตประกอบการอุตสาหกรรม การยกเลิก เพิกถอน เขตประกอบการอุตสาหกรรม
2. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 ซึ่งเดิมมาตรานี้กำหนดให้ผู้ตรวจสอบเอกสอบเอกชนดำเนินการตรวจสอบและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้ ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้ประกอบกิจการโรงงาน แต่ปัจจุบันได้ทบทวนแก้ไขมาตรานี้ เช่น กรณีที่ได้มีการออกคำสั่งตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องให้ผู้ตรวจสอบเอกสารดำเนินการตรวจสอบและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยผู้รับคำสั่งเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย เพื่อพิสูจน์หรือแสดงว่าผู้รับคำสั่งได้ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวข้างต้นแล้ว
3. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงานในการจัดให้มีการบำบัดมลพิษ หรือเพื่อให้การบำบัดมลพิษมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งเดิมมิได้มีบทบัญญัตินี้
4. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39 วรรคสาม โดยภายใน 30 วันนับถัดจากวันที่ออกคำสั่งปิดโรงงาน กรณีที่โรงงานมีสภาพที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่บุคคล ทรัพย์สินที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานหรือเกิดความเสียหาย หรือเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้สั่งแก้ไขปรับปรุงโรงงานภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ และให้ถือว่าผู้นั้นมีฐานะเสมือนเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะดำเนินการตามคำสั่งแล้วเสร็จ ซึ่งเดิมมิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ ทำให้ไม่สามารถสั่งการภายหลังที่ออกคำสั่งตามมาตรา 39 วรรคสามได้
5. การเพิ่มโทษจำคุก สำหรับความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือกำหนดให้มีค่าปรับในอัตราที่สูงขึ้น
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #โรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม#พรบโรงงาน