วันที่ 24 เมษายน 2567 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้ นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อม นายขจรพงศ์ ศิริวิสูตร วิศวกรชำนาญการพิเศษ กองพัฒนาระบบมาตรฐานงานกำกับโรงงาน รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม พร้อมนายทวี อำพาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายอำเภอบ้านค่าย เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ฝ่ายปกครองจังหวัดระยอง และผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้ พบจุดที่ยังมีเปลวไฟ และกลุ่มควันลอยออกมาจากภายในบริเวณอาคาร
รองอธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวหลังจากลงพื้นที่ติดตามเหตุเพลิงไหม้ว่า ตั้งแต่เกิดเหตุเพลิงไหม้ อธิบดีกรมโรงงานฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ทันที อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับประสานเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) สถานีตำรวจภูธรบ้านค่าย และสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 2 เพื่อเร่งสืบหาสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้โดยเร็ว พร้อมให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลกับผู้อำนวยการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการควบคุมสถานการณ์
รองอธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวต่อว่า สิ่งที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการแล้ว และจะดำเนินการต่อไป ต่อสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้ มีดังนี้
- กรมโรงงานฯ จะดำเนินการร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ โดยได้จัดส่งรถ Mobile ตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยรอบโรงงานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ และในบริเวณชุมชน
- มอบหมายให้ กองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน และ ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออกลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำและดินภายในโรงงานเพื่อตรวจวัดค่าการปนเปื้อน รวมถึงกากของเสียจากเหตุไฟไหม้
- ลงพื้นที่สำรวจปริมาณของเสียจากเหตุเพลิงไหม้ และปริมาณของเสียที่คงค้าง (ยังไม่ถูกไฟไหม้) เพื่อประเมินแนวทางการกำจัด และงบประมาณที่ต้องใช้ในการดำเนินการ
- แถลงต่อศาลจังหวัดระยอง เพื่อขอเบิกเงินส่วนที่เหลือจากที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด เคยวางศาลไว้ ซึ่งเหลืออยู่ประมาณ 5 ล้านบาท จะนำมาใช้ดำเนินการจัดการของเสีย เป็นกรณีเร่งด่วน
- มีหนังสือให้ บริษัท วินโพรเสส จำกัด และบริษัท บริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (เจ้าของทรัพย์) ร่วมกันรับผิดชอบดำเนินการขนย้ายของเสียจากเหตุเพลิงไหม้ไปกำจัดและบำบัด
- ร่วมตรวจสอบและสนับสนุนข้อมูล เพื่อใช้ในการพิสูจน์หลักฐาน ร่วมกับ ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน และ บก.ปทส. เพื่อสืบหาการกระทำความผิด หากเป็นการวางเพลิง
- ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ ในข้อหาวางเพลิงทำลายของกลางในคดี และหาความเชื่อมโยงที่อาจเกี่ยวข้อง ที่มีลักษณะคล้ายกับเหตุที่โกดังภาชี
- ดำเนินการของบกลาง 2567 เพื่อใช้ในการจัดการของเสียส่วนที่เหลือ (ในการนี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 3 เดือน)
หากพบสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ กรมโรงงานฯ จะดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างกับโรงงานที่ประกอบกิจการจำพวกนี้ หรือคิดที่จะก่อเหตุแบบนี้ขึ้น ต่อไป รองอธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวทิ้งท้าย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง #กากอุตสาหกรรม #ของเสียเคมี #วินโพรเสส #บริษัทวินโพรเสสจำกัด #เพลิงไหม้ #ไฟใหม้