วันที่ 17 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาเกณฑ์สิ้นสุดการเป็นของเสียสำหรับแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้ว” ครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียต่อการพัฒนาเกณฑ์สิ้นสุดการเป็นของเสียและการจัดตั้งโครงสร้างสถาบัน โดยมี นางสาวปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ดร.อุมา วิรัตน์สกุลชัย ผู้ประสานงานโครงการ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNIDO (United Nations Industrial Development Organization) ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ผู้แทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมสุรศักดิ์ 1 ชั้น 11 โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ โดยมี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการ
สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการวิจัย “Provision of Services Relative to End-of-Waste Management in Thailand Focusing on Plaster Mold Waste” จัดขึ้นเพื่อนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์สิ้นสุดการเป็นของเสีย และแนวทางในการดำเนินงานของประเทศไทยจากที่ปรึกษา โดยรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ผ่านกิจกรรมกลุ่มโดยเน้นไปที่ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
(1) กระบวนการพัฒนาเกณฑ์สิ้นสุดการเป็นของเสีย โดยนำกากของเสียอุตสาหกรรมที่ผ่านการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้วสิ้นสุดสถานภาพการเป็นของเสีย เข้าสู่กระบวนการผลิตให้เป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ (Secondary Raw Material)
(2) โครงสร้างเชิงสถาบัน บทบาท และหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเกณฑ์ฯ ในอนาคต ที่มุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาการสิ้นสุดการเป็นของเสีย (End of Waste) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้ จะนำข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นใน 2 ประเด็นดังกล่าว มาเป็นข้อมูลเพื่อจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในคราวต่อไป
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวได้วิจัยนำร่องทดสอบการนำแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์และปูนปลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้ว กลับมาผลิตเป็นผนังยิปซัม (Gypsum Wall) สำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกากอุตสาหกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวควบคู่กันไปอีกด้วย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #รับฟังความคิดเห็น #แม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ #ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้ว #ผลิตภัณฑ์ใหม่ #SecondaryRawMaterial #การสิ้นสุดการเป็นของเสีย #EndofWaste #เศรษฐกิจหมุนเวียน #CircularEconomy #ยิปซัม #ผนังยิปซัม #Gypsum #กากอุตสาหกรรม