วันที่ 22 มีนาคม 2567 นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานกรรมการร่วม ในการประชุมคณะกรรมการวิชาการกำหนดหลักเกณฑ์การผลิตปุ๋ย หรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน จากสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรม และการนำน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมไปใช้ในการเกษตร ร่วมด้วย นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน ผู้แทนคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้แทนกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 503 ชั้น 5 อาคารกรมโรงงานอุตสาหกรรม
การประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณากรอบแนวทางการจัดทำเกณฑ์การผลิตปุ๋ย หรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน การนำกากตะกอนน้ำเสียชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียอุตสาหกรรมจากการผลิตเอทานอลนำไปเป็นสารปรับปรุงคุณภาพดิน ที่ประชุมยังได้แจ้งให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาอนุญาตให้นำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยเฉพาะการจัดการโดยการหมักทำปุ๋ยหรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน (Composting or Soil Conditioner) รหัสวิธีกำจัด 083 ตามกฎหมายฉบับใหม่เทียบกับฉบับเดิม รวมทั้งประเด็นปัญหาเพื่อนำมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ และมาตรฐานปุ๋ยและสารปรับปรุงดิน
สำหรับหลักเกณฑ์การทำปุ๋ยหมักหรือสารปรับปรุงคุณภาพดินจากกากอุตสาหกรรม ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กำหนดรหัสวิธีจัดการการหมักทำปุ๋ยหรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน (Composting or Soil Conditioner) จัดอยู่ในกลุ่มการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste Management Codes) รหัส 083 โดยกากอุตสาหกรรมที่สามารถนำมาทำปุ๋ยหมักหรือสารปรับปรุงดินจะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม ไม่เป็นกากอันตราย ไม่ปนเปื้อนสารประกอบปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน สารยับยั้งจุลชีพ สารกำจัดแมลงศัตรูหรือโรคพืชและสัตว์ อีกทั้งต้องเป็นกากตะกอนชีวภาพจากอุตสาหกรรมอาหารหรือเกษตรแปรรูป เช่น เศษชิ้นส่วนพืชและสัตว์ ขี้เถ้าแกลบ กากกาแฟ กากยีสต์ กากกรองเบียร์ ดินฟอกสีน้ำมันพืช เป็นต้น นอกจากนี้ หากเป็นการทำปุ๋ยหมักหรือสารปรับปรุงคุณภาพดินจากอุตสาหกรรมอื่นๆ จะต้องแสดงเอกสารรับรองจากกรมวิชาการเกษตร หรือกรมพัฒนาที่ดิน หรือสำนักงานรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์การเกษตร ว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณลักษณะด้านกายภาพและด้านเคมี สามารถใช้เป็นปุ๋ยหมักหรือสารปรับปรุงดินได้จริง
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #การผลิตปุ๋ย #สารปรับปรุงคุณภาพดิน