วันที่ 21 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกับ นางสาวปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน ร่วมแสดงความยินดีกับ บริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14064-1 และผ่านการรับรองเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ถึง 6 โรงงาน โดยมี นายยาซูโอะ ฮีดากา ประธาน บริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ให้การต้อนรับ ร่วมด้วย คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คุณประวาลทอง ทองใหญ่ ณ อยุธยา ผู้จัดการฝ่ายรับรองระบบมาตรฐานฯ ในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ณ บริษัท ฮีดากา โฮลดิ้งส์ (2008) จำกัด เขตบางนา กรุงเทพฯ
โดยโรงงานจำนวน 6 แห่ง ของบริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) รวมถึงได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14064-1 เป็นมาตรฐานว่าด้วยเรื่องหลักการและข้อกำหนดระดับองค์กรสำหรับการวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อยและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจาก บริษัท บูโรเวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และผ่านการรับรองเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จากการประชุมคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้แก่ สาขาสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ สาขาเกตุเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบ่อวิน จังหวัดชลบุรี สาขามาบตาพุด จังหวัดระยอง สาขาอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สาขาพานทอง จังหวัดชลบุรี
กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผนึกกำลังทุกหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเครือข่าย โดยเฉพาะสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ส่งเสริมให้สถานประกอบการทั่วประเทศใส่ใจในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวใน 5 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือ การแสดงความมุ่งมั่นในรูปแบบของนโยบายเป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน
ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) คือ การดำเนินกิจกรรมตามนโยบาย เป้าหมายและแผนงานที่กำหนดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและสำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้
ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตามประเมินผลและทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหรือการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่ยอมรับ หรือได้รับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ
ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือ การที่ทุกคนในองค์กรมีจิตสำนึกร่วมกันในการสงวนและรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีและให้ความร่วมมือร่วมใจในทุกด้านของการประกอบกิจการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินการต่างๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร
และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือ การขยายขอบเขตของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวจากภายในองค์กรเองออกสู่ภายนอก ตลอดโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย
โดยการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้มีการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือ ประชาชนไว้วางใจ และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียวของประเทศ (Green GDP) มีมูลค่าสูงขึ้นด้วย
กรมโรงงานฯ ขอสนับสนุนโรงงานที่เข้าร่วมโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวแล้ว ให้พัฒนาสู่ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) พร้อมสนับสนุนคู่ค้าและพันธมิตรสมัครเข้าร่วมโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อจิตสำนึกร่วมกันในการสงวนและรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมสีเขียว #คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร #สิ่งแวดล้อม