You are currently viewing เริ่มแล้ววันแรกเกือบ 100 ตัน! อธิบดีกรมโรงงานฯ ลงพื้นที่กำกับเอง ขนย้ายกากของเสียตกค้าง “แวกซ์กาเบ็จฯ จ.ราชบุรี”

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่กำกับติดตามการดำเนินโครงการจ้างเหมาบริการกำจัด/บำบัดวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในพื้นที่ของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด และพื้นที่ของ นายสมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเมื่อ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ ไม่ดำเนินการกำจัด/บำบัดของเสียตามคำสั่งในเวลาที่กำหนด ทำให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ต้องเข้าดำเนินการแทน โดยมี บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการในนามของ กรอ. เพื่อนำเศษวัสดุจากเพลิงไหม้ รวมทั้งน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงที่ปนเปื้อนดินในพื้นที่ ภาชนะปนเปื้อนบรรจุ วัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ของเสียเคมีวัตถุ ที่ตกค้างในอาคารต่างๆ รวมทั้งวัตถุอันตรายที่ครอบครองไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมจำนวน 13,439 ตัน นำไปกำจัด/บำบัดตามข้อกฎหมายและหลักวิชาการ ทั้งนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2566 ในการสำรวจตรวจสอบสภาพโครงสร้างของอาคารที่ต้องดำเนินงาน จำนวน 24 อาคาร ตรวจนับแยกประเภทของเสียทั้งหมด เก็บตัวอย่างวิเคราะห์ รวมทั้งจัดทำแผนการทำงานด้วยความเรียบร้อย และจะเริ่มงานขนย้ายให้แล้วเสร็จตามสัญญา คือภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567

(ซ้าย-ขวา) นายธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
(ซ้าย-ขวา) นายธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ในวันนี้ กรอ. ได้อนุมัติให้นำเครื่องจักรที่จำเป็นเข้าดำเนินการเริ่มต้นขนย้ายวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและของเสียเคมีวัตถุตกค้างที่ยึดอายัดไว้ เพื่อนำออกไปกำจัด/บำบัด ได้แก่ ดินปนเปื้อนสารเคมี กากสี น้ำมันเสื่อมสภาพ ผงสี น้ำปนเปื้อนน้ำมันตลอดจนวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและของเสียเคมีวัตถุอื่นๆ ภายใต้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามมาตรา 63/21 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มการขนย้ายนำไปกำจัด/บำบัดวันแรก ราว 10 คันรถบรรทุก เป็นดินปนเปื้อนสารเคมี จำนวน 60 ตัน ถังโลหะขนาด 200 ลิตร ที่บรรจุกากสีและน้ำมันเสื่อมสภาพ จำนวน 33 ตัน รวมจำนวน 93 ตัน

ของเสียเคมีวัตถุ ที่ตกค้างในอาคารต่างๆ รวมทั้งวัตถุอันตรายที่ครอบครองไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมจำนวน 13,439 ตัน
ของเสียเคมีวัตถุ ที่ตกค้างในอาคารต่างๆ รวมทั้งวัตถุอันตรายที่ครอบครองไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมจำนวน 13,439 ตัน

นายจุลพงษ์ เปิดเผยว่า กรอ. มีความกังวลถึงปัญหาอุปสรรคในการขนย้ายดังกล่าว จึงประสานขอกำลังสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายสำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ กรอ. และเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรีเข้ามาประจำอยู่ในพื้นที่โรงงาน เพื่อเป็นหน่วยบัญชาการดำเนินงานให้เป็นไปตามกำหนดเวลาและเกิดความสะดวกเรียบร้อย โดยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา กรอ. ได้ยื่นคำขอคุ้มครองประโยชน์ของ กรอ. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องในคดีที่ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ ได้ฟ้องร้องอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมต่อศาลปกครองเพชรบุรี เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งไม่ให้ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ หรือบุคคลอื่นใดขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กรอ. และ บริษัท เบตเตอร์ฯ ผู้ได้รับมอบหมายจาก กรอ. รวมทั้งมีคำขอให้ศาลเดินเผชิญสืบพยานหลักฐานในพื้นที่โรงงานของ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ อีกด้วย แม้ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองเพชรบุรี แต่เพื่อให้การขนย้ายของเสียเป็นไปตามแผน กรอ. จึงยังคงใช้อำนาจทางปกครองเข้ามาดำเนินการตามปกติ โดยหากมีผู้ขัดขวางการปฏิบัติงานจะถือเป็นความผิดอาญา และ กรอ. จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้ถึงที่สุด

กรอ. ได้อนุมัติให้นำเครื่องจักรที่จำเป็นเข้าดำเนินการเริ่มต้นขนย้ายของเสียเคมีวัตถุตกค้างที่ยึดอายัดไว้ เพื่อนำออกไปกำจัด/บำบัด
กรอ. ได้อนุมัติให้นำเครื่องจักรที่จำเป็นเข้าดำเนินการเริ่มต้นขนย้ายของเสียเคมีวัตถุตกค้างที่ยึดอายัดไว้ เพื่อนำออกไปกำจัด/บำบัด

สำหรับอุปสรรคที่พบระหว่างการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้มีทนายความ 2 ท่าน เข้ามาแสดงตัวและแสดงหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ ในเบื้องต้นแจ้งว่าขอห้ามการขนย้ายดินปนเปื้อนสารเคมีและของเสียเคมีวัตถุ ซึ่ง นายธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กรอ. ได้อธิบายให้ผู้รับมอบอำนาจเข้าใจว่าการดำเนินการในวันนี้เป็นอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ และหากมีการขัดขวาง เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการจับกุมผู้ขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทันที โดยในที่สุดพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้สั่งให้มีการดำเนินการขนย้ายของเสียไปกำจัด/บำบัดตามที่วางแผนไว้เรียบร้อย

มีทนายความ 2 ท่าน ของ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ แจ้งว่าขอห้ามการขนย้ายดินปนเปื้อนสารเคมีและของเสียเคมีวัตถุ
มีทนายความ 2 ท่าน ของ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ แจ้งว่าขอห้ามการขนย้ายดินปนเปื้อนสารเคมีและของเสียเคมีวัตถุ

“ปัญหานี้เป็นความเดือดร้อนของประชาชนจากการประกอบกิจการโรงงานที่เป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานมากกว่า 20 ปี ซึ่ง กรอ. ได้มีการบังคับใช้ข้อกฎหมายทั้งหมดที่มีเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ครบถ้วน และโปร่งใส โดยจะเรียกการดำเนินนี้ว่า “ราชบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบบริหารจัดการปัญหา นำไปใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันต่อไป” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย

ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบร่วมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ณ บริเวณถนนสาธารณะ หน้าโรงงาน
ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบร่วมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ณ บริเวณถนนสาธารณะ หน้าโรงงาน

ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ร่วมลงพื้นที่กำกับติดตามการดำเนินงาน ประกอบด้วย นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง ผู้อำนวยการกองกฎหมาย นายประสม ดำรงพงษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน นายรินทวัฒน์ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม นางสาววิชุดา สัมฤทธิ์ผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันตก และเจ้าหน้าที่ กรอ. พร้อมด้วย นายอานันท์ ฟักสังข์ ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมบริการ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อดีตอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ในฐานะกรรมการโครงการฯ นายบุญสิทธิ์ เรืองผล อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ และผู้แทนจาก บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้

เริ่มการขนย้ายนำไปกำจัด/บำบัดวันแรก รวมจำนวน 93 ตัน
เริ่มการขนย้ายนำไปกำจัด/บำบัดวันแรก รวมจำนวน 93 ตัน
(ซ้าย-ขวา) นางสาววิชุดา สัมฤทธิ์ผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันตก และ นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม
(ซ้าย-ขวา) นางสาววิชุดา สัมฤทธิ์ผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันตก และ นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม
หากมีผู้ขัดขวางการปฏิบัติงานจะถือเป็นความผิดอาญา และ กรอ. จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้ถึงที่สุด
หากมีผู้ขัดขวางการปฏิบัติงานจะถือเป็นความผิดอาญา และ กรอ. จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้ถึงที่สุด

#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #แวกซ์กาเบ็จ #บริษัทแวกซ์กาเบ็จรีไซเคิลเซ็นเตอร์จำกัด #กากอุตสาหกรรม #ของเสียอุตสาหกรรม #ราชบุรีโมเดล #ศาลปกครองเพชรบุรี #ราชบุรีโมเดล