You are currently viewing อธิบดีกรมโรงงานฯ ลงพื้นที่ “วินโพรเสส จ.ระยอง” ตรวจพบน้ำปนเปื้อนหนักจนเข้าข่ายวัตถุอันตราย สั่งทีมตรวจคุณภาพน้ำต่อเนื่อง เผยล่าสุด ศาลจังหวัดระยองสั่งบำบัดให้เป็นไปตามมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่โรงงาน บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อติดตามตรวจสอบการปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งศาล ซึ่งดำเนินการบำบัดกำจัดของเสียโดย บริษัท เอส.เค. อินเตอร์เคมิคอล จำกัด ผู้รับบำบัดกำจัดของเสียตามสัญญาว่าจ้างกับ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ในการบำบัดกำจัดของเสียที่คงเหลืออยู่ภายในโรงงานและน้ำในบ่อดิน จำนวน 5 บ่อรอบโรงงาน ตามคำพิพากษาและเงื่อนไขรายงานกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดระยอง โดยมีเจ้าหน้าที่ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้แก่ นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายทวี อำพาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมด้วย นายวิเชียร ทองด้วง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง นายอาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 นายจุฑา จินดาทิพย์ ปลัดอำเภอบ้านค่าย นายคนึง ส่งกลิ่น รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด นำโดย นางดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโสและที่ปรึกษาชุมชนมูลนิธิบูรณะนิเวศ และ ผู้แทน บริษัท เอส.เค. อินเตอร์เคมิคอล จำกัด ทั้งนี้ ไม่มีตัวแทนหรือผู้ได้รับมอบหมายจากกรรมการของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ในการนำตรวจพื้นที่โรงงาน จึงร้องขอให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นพยานในการตรวจสอบพื้นที่ในครั้งนี้

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

จากการตรวจสอบโรงงาน พบการรั่วไหลของเสียในพื้นที่โรงงาน ซึ่งเป็นของเสียที่อยู่ระหว่างรอการคัดแยกเพื่อนำไปบำบัดกำจัด อีกทั้งสภาพโดยรวมของพื้นที่โรงงานแตกต่างไปจากเดิม อาทิ พบถังเก็บสารเคมี (Intermediate Bulk Container: IBC) ขนาด 1,000 ลิตร มีกลิ่นเหม็นฉุนสารเคมี ตั้งอยู่นอกอาคารจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบของเสียที่โรงงานแห่งนี้ไม่ได้รับอนุญาต เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เข็มฉีดยา เป็นต้น รวมทั้งตรวจพบร่องรอยการคัดแยกตัดโครงเหล็กของถังเก็บสารเคมี โครงสร้างหลังคา และชิ้นส่วนรถบรรทุก ซึ่งวินโพรเสสฯ ลักลอบนำไปจำหน่าย การกระทำเช่นนี้เข้าข่ายลักทรัพย์ เนื่องจากปัจจุบัน บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (Islamic Bank Asset Management Ltd. : IAM) เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของวินโพรเสสฯ ซึ่งได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (Islamic Bank of Thailand) ที่ซื้อที่ดินผ่านการขายทอดตลาด ส่วนของเสียทั้งหมดภายในโรงงานถือเป็นอำนาจของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ยึดอายัดไว้และดำเนินการภายใต้คำสั่งศาลจังหวัดระยอง ขณะเดียวกันปัญหาใหม่ที่ตรวจพบคือ การบำบัดน้ำในบ่อดินที่น้ำน่าจะมีสภาพดีขึ้นแล้ว แต่กลับมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นขึ้นกว่าเดิมจนเป็นของเสียเคมีวัตถุตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จากข้อมูลพยานหลักฐานเบื้องต้นชี้ได้ว่าเป็นการนำของเหลวเคมีวัตถุที่มีสภาพกรดเข้มข้นที่อยู่ในอาคารปล่อยลงรางระบายน้ำไหลสู่บ่อดิน (บ่อที่ 1) ซึ่งจะดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พบการรั่วไหลของเสียในพื้นที่โรงงานวินโพรเสสฯ ซึ่งเป็นของเสียที่อยู่ระหว่างรอการคัดแยกเพื่อนำไปบำบัดกำจัด
พบการรั่วไหลของเสียในพื้นที่โรงงานวินโพรเสสฯ ซึ่งเป็นของเสียที่อยู่ระหว่างรอการคัดแยกเพื่อนำไปบำบัดกำจัด

ต่อมา เวลา 11.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าพบ นางสาวณมณฑ์ กาญธีรานนท์ อัยการจังหวัดระยอง เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย กรณีผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด จังหวัดระยอง ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และชัดเจน โดยมี นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายทวี อำพาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมด้วย นายวิเชียร ทองด้วง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง พ.ต.อ. วิญญู แจ่มใส ผู้กำกับการ กองกำกับการ 2 บก.ปทส. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สำนักงานอัยการจังหวัดระยอง ถนนสุขุมวิท ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง

หารือแนวทางการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย ณ สำนักงานอัยการจังหวัดระยอง
หารือแนวทางการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย ณ สำนักงานอัยการจังหวัดระยอง

จากนั้น เวลา 14.30 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือแก้ไขปัญหาและเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมาย กรณีผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด โดยมี นายวรพงศ์ วิเศษธร หัวหน้าส่วนพัฒนาทรัพย์สิน ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด นายจตุรงค์ วงค์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะที่ได้ร่วมลงพื้นที่รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 องค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง โดยอธิบดีกรมโรงงานฯ เผยว่า จากปัญหาบ่อพักน้ำที่ชำรุดเนื่องจากฝนตกหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำปนเปื้อนสารเคมีรั่วไหลทำให้การปนเปื้อนขยายวงกว้างมากขึ้นนั้น ขอขอบคุณ นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง นายวิเชียร ทองด้วง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และผู้เกี่ยวข้อง ในความร่วมมือจัดการซ่อมคันบ่อเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากเหตุคันดินบ่อพักน้ำพังแตก ทำให้ลดความรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

การประชุมหารือแก้ไขปัญหาและเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมาย กรณีผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร
การประชุมหารือแก้ไขปัญหาและเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมาย กรณีผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการ บริษัท เอส.เค. อินเตอร์เคมิคอล จำกัด ได้นำของเสียบางส่วนออกไปบำบัดกำจัดตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดระยอง รวมถึงการบำบัดน้ำในบ่อดิน 4 บ่อ จำนวนกว่า 34,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันน้ำในบ่อดินด้านหลังตราชั่งรถบรรทุก (บ่อที่ 4) มีค่าเป็นปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีของเสียตามคำพิพากษาในอาคารที่ต้องขนไปบำบัดกำจัดอีกจำนวนมาก ซึ่งต้องกำกับดูแลให้ดำเนินการตามหลักวิชาการและแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่บริษัทฯ ได้นำเรียนต่อศาลไว้

ยังมีของเสียตามคำพิพากษาในอาคารที่ต้องขนไปบำบัดกำจัดอีกจำนวนมาก ซึ่งต้องกำกับดูแลให้ดำเนินการตามหลักวิชาการและแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่บริษัทฯ ได้นำเรียนต่อศาลไว้
ยังมีของเสียตามคำพิพากษาในอาคารที่ต้องขนไปบำบัดกำจัดอีกจำนวนมาก ซึ่งต้องกำกับดูแลให้ดำเนินการตามหลักวิชาการและแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่บริษัทฯ ได้นำเรียนต่อศาลไว้

นายจุลพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนสะสมมานานจากการประกอบกิจการของโรงงานดังกล่าว โดยจังหวัดระยองเป็นอีกฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ที่ต้องเข้มงวดในการกำกับดูแลโรงงานให้ปฏิบัติตามกฎหมายดูแลสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้ มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก กรมโรงงานอุตสาหกรรม ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำภายในโรงงานและแหล่งน้ำธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจุดที่มีการปนเปื้อนพบว่าค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ค่อนข้างต่ำ 2.4-2.8 (ค่ามาตรฐานแหล่งน้ำผิวดิน pH 5.0-9.0) โดยศูนย์วิจัยฯ จะตรวจวัดคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อรายงานให้ทราบเป็นระยะต่อไป

(ซ้าย-ขวา) นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม, นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ นายวิเชียร ทองด้วง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง
(ซ้าย-ขวา) นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม, นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ นายวิเชียร ทองด้วง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง
นายทวี อำพาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก
นายทวี อำพาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก
ผู้แทน บริษัท เอส.เค. อินเตอร์เคมิคอล จำกัด
ผู้แทน บริษัท เอส.เค. อินเตอร์เคมิคอล จำกัด

#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง #กากอุตสาหกรรม #ของเสียเคมี #วินโพรเสส #บริษัทวินโพรเสสจำกัด #บริษัทเอสเคอินเตอร์เคมิคอลจำกัด #เอสเคอินเตอร์เคมิคอล #หนองพะวา