วันที่ 26 กันยายน 2566 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับ กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ลงพื้นที่ติดตามการประกอบกิจการโรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดปทุมธานี เพื่อตรวจสอบการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และเศษพลาสติกที่ใช้งานแล้ว โดยมี นางประภาพร ลือกิตติศัพท์ ผู้อำนวยการกลุ่มจัดการกากอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายปรารมภ์ แสงพนัสธาดา ผู้อำนวยการส่วนที่ 2 กองบริการงานอนุญาตโรงงาน 1 พร้อมด้วย ผู้แทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ และเจ้าหน้าที่ บก.ปอศ. ลงพื้นที่ในครั้งนี้
คณะลงพื้นที่โรงงาน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
1) โรงงานในตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับอนุญาตโรงงานประเภทลำดับ 106 ประกอบกิจการบดย่อยสายไฟและสายเคเบิ้ลที่ไม่เป็นของเสียอันตรายและคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย จำนวน 1 แห่ง
2) โรงงานในตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ได้รับอนุญาตโรงงานประเภทลำดับ 106 ประกอบกิจการบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 2 แห่ง
จากการตรวจสอบโรงงาน จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า ภายในโรงงานมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ในบัญชี 5.2 ของเสียเคมีวัตถุ (Chemical Wastes) ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 อีกทั้งมีการประกอบกิจการที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 อาทิ การระบายอากาศเสียจากกระบวนการผลิตโดยไม่ผ่านระบบบำบัดมลพิษอากาศ มีการกองเก็บวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เหลือจากกระบวนการผลิตภายนอกอาคารโรงงาน (กลางแจ้ง) นอกจากนี้ยังตรวจพบซากชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 โดยจะได้พิสูจน์แหล่งที่มาต่อไป
กรณีโรงงาน 2 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบการกระทำที่ฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ได้แก่ การประกอบกิจโรงงานโดยที่ไม่ได้แจ้งประกอบกิจการโรงงาน การขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และประกอบกิจการโรงงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตโดยกองเก็บวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เหลือจากกระบวนการผลิตภายนอกอาคารโรงงาน เจ้าหน้าที่จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อสถานีตำรวจภูธรลำลูกกา ตำบลบึงคำพร้อย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ในกรณีกระทำการฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ไว้แล้ว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ปอศ. ได้ยึดอายัดขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อตรวจสอบที่มาว่าได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ หากพบความผิดต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยศุลกากร และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #โรงงาน106