วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.30 น. นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินงานและพิธีมอบรางวัล โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกากอุตสาหกรรมนำไปสู่ Zero Waste to Landfill ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพการจัดการของเสียที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยมี นางนุชนาถ สุพรรณศรี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีการกำจัดและการจัดการกากอุตสาหกรรม ในนามประธานคณะกรรมการโครงการฯ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ผู้แทนบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และผู้ประกอบการจัดการของเสียภาคอุตสาหกรรม กว่า 70 คน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมชมัยมรุเชฐ ชั้น 3 สโมสรทหารกองทัพบก(วิภาวดี) กรุงเทพฯ

โครงการ Zero Waste to Landfill เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมตามหลัก 3Rs ภายในโรงงาน ได้แก่ Reduce-การลดสร้างของเสีย Reuse-การใช้ซ้ำเพื่อใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และ Recycle-การแปรรูปมาใช้ใหม่ เช่น การนำขยะย่อยสลายยากมาเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ หรือการนำน้ำทิ้งกลับมาบำบัดใช้ใหม่ในโรงงาน เป็นต้น โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 นับแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เพื่อส่งเสริมการนำกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงานไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นระบบ ลดค่าใช้จ่ายในการบำบัด/กำจัด เพิ่มมูลค่าของเสีย เพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้า และสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งสู่การใช้ประโยชน์จากของเสียได้ทั้งหมด หรือเรียกว่า “Zero Waste to Landfill (ของเสียไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์)”

ในปี พ.ศ. 2566 มีโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการฯ และผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 21 โรงงาน โดยแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จจากสถิติการลดปริมาณของเสียรวม 10,361.87 ตัน/ปี ลดการนำของเสียไปฝังกลบ 3,715.75 ตัน/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3,798.04 ตัน CO2eq/ปี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำบัด/กำจัด 28,030,386.85 บาท/ปี และเพิ่มรายได้ 29,168,090 บาท/ปี

ทั้งนี้ ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ
1. การเสวนา ภายใต้หัวข้อ “แนวทางการพัฒนาและการใช้ประโยชน์กากของเสีย”
2. พิธีมอบรางวัล ให้แก่โรงงานที่ปฏิบัติสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 3 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย
รางวัล 3Rs สำหรับโรงงานที่ปฏิบัติหลักเกณฑ์การจัดการของเสียตามหลัก 3Rs จำนวน 21 โรงงาน
รางวัล 3Rs+ สำหรับโรงงานที่มีความโดนเด่นในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม ด้านผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ และด้านการลดปริมาณของเสียที่ต้องจัดการ
รางวัล Zero Waste Acheivement สำหรับโรงงานที่ลดปริมาณของเสียและการใช้ประโยชน์ของเสียทั้งหมด จนกระทั่งการฝังกลบเป็นศูนย์ จำนวน 4 โรงงาน
3. การจัดนิทรรศการ แนวทางการจัดการของเสียเพื่อมุ่งสู่การใช้ประโยชน์ของเสียทั้งหมด (Zero Waste to Landfill)


#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #ของเสียอุตสาหกรรม #กากอุตสาหกรรม #ZeroWastetoLandfill #ของเสียไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ #CircularEconomy