วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน หมู่ที่ 8 ตำบลศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ว่าพบการนำกากอุตสาหกรรมจากโรงงานแห่งหนึ่งมากองไว้บริเวณพื้นที่ชุมชน โดยอ้างว่ามีเอกชนรายหนึ่งมาขอซื้อไว้เพื่อนำไปผลิตเป็นสารปรับปรุงดิน โดยมี นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายปณตสรรค์ สูจยานนท์ ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 1 และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายพงษ์สิทธิ์ เนื่องจำนงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน ภาคตะวันออก อำเภอศรีมหาโพธิ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
จากการลงพื้นที่พบกองกากอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นกอง แคลเซียมซัลเฟต (ยิปซั่มสังเคราะห์) มีต้นกำเนิดมาจากโรงงานของ บริษัท ซันชาย ไบโอเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบกิจการโรงงานทำกรดมะนาว จึงได้มีการเข้าตรวจโรงงานดังกล่าว โดยมีผู้แทนโรงงานฯ เป็นผู้นำตรวจในพื้นที่โรงงานและอธิบายถึงกระบวนการผลิตกรดมะนาว และกระบวนการเกิดแคลเซียมซัลเฟต (ยิปซั่มสังเคราะห์)
อธิบดีกรมโรงงานฯ เปิดเผยว่า แคลเซียมซัลเฟต (ยิปซั่มสังเคราะห์) มีฤทธิ์เป็นกรด ไม่สามารถนำมาใช้ไปเป็นสารปรับปรุงดินได้ จึงให้ทางบริษัทฯ ดำเนินการขนแคลเซียมซัลเฟต (ยิปซั่มสังเคราะห์) ที่กองไว้ในพื้นที่ หมู่ที่ 8 ตำบลศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ) และที่มีการขายสารดังกล่าวไป กลับเข้ามาไว้ในบริเวณโรงงานฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ วันที่ 8 กรกฎาคม 2566 และให้ดำเนินการจัดการแคลเซียมซัลเฟต (ยิปซั่มสังเคราะห์) ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อไป
อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แคลเซียมซัลเฟต (ยิปซั่มสังเคราะห์) เป็นสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ถูกควบคุมโดยประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ มีฤทธิ์เป็นกรด ไม่สามารถนำมาใช้ไปเป็นสารปรับปรุงดินได้ แต่อาจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตามหลักการสิ้นสุดการเป็นสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (End of Waste) หากผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์นั้น ๆ โดยอาจต้องมีการวิจัยพัฒนาเพิ่มเติมร่วมกับหน่วยงานภายนอก ตามแนวทางนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้โรงงานมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
และในวันเดียวกันนั้น ได้มีการเข้าตรวจโรงงาน บริษัท จีเอ็ม อีโค่ เทคโนโลยี จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี ประเภทโรงงานลำดับที่ 106 ประกอบกิจการทำสารปรับปรุงดินจากกากตะกอนระบบบำบัดน้ำเสียแบบชีวภาพ และวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น ยิปซั่ม หรือ Gypsum (off spec) ทำวัสดุภัณฑ์ในการก่อสร้าง เช่น เสา แผ่นพื้นสำเร็จรูป จากวัสดุที่ไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น ทรายหล่อแบบ ในพื้นที่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี หลังจากทราบว่ามีการซื้อ แคลเซียมซัลเฟต (ยิปซั่มสังเคราะห์) ของ บริษัท ซันชาย ไบโอเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทางโรงงานชี้แจ้งว่าได้นำแคลเซียมซัลเฟต (ยิปซั่มสังเคราะห์) มาใช้ไปเป็นสารปรับปรุงดิน โดยการลดค่าความชื้นประมาณร้อยละ 15 และปรับค่าความเป็นกรด ด่าง ให้มีค่าประมาณ 5.5 จึงจะส่งให้ลูกค้าเพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนต่อไป ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่เป็นไปตามกระบวนการผลิตที่ได้รับอนุญาต กรมโรงงานฯ จึงแจ้งให้หยุดดำเนินการและปรับปรุงให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตไว้
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #กากอุตสาหกรรม #แคลเซียมซัลเฟต