เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 เวลา 09.30 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบการนำเข้าตู้สินค้า ซึ่งสันนิษฐานอาจเป็นสินค้าเข้าข่ายของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal) หรือของเสียอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ โดยมี นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายปณตสรรค์ สูจยานนท์ ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 1 นายทวี อำพาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมด้วย นางสาวอังศุมาลิน ฉัตรสุวรรณวารี อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี นายสุรเดช ตรงศิริวิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบในครั้งนี้ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้มีอำนาจภายใต้อนุสัญญาบาเซลของราชอาณาจักรไทย ได้รับข้อมูลจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แจ้งว่า มีการตรวจพบตู้สินค้าที่แสดงชนิดสินค้าเป็นเศษพลาสติก นำเข้าโดยบริษัทเอกชนผู้นำเข้าเศษพลาสติกแห่งหนึ่ง จำนวน 2 ตู้ ซึ่งเดิมตู้สินค้าจะส่งไปยังประเทศมาเลเซีย แต่ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงปลายทางเป็นท่าเรือแหลมฉบัง กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงขอความอนุเคราะห์กรมศุลกากรให้ระงับการปล่อยตู้สินค้าดังกล่าว
จากการตรวจสอบตู้สินค้าขาเข้า จำนวน 2 ตู้ ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร พบว่า ตู้สินค้าแรกเป็นกล่องกระดาษขนาดใหญ่ น้ำหนักรวม 28 ตัน ภายในกล่องบรรจุเศษพลาสติกเอบีเอส (ABS: Acrylonitrile-Butadiene-Styrene) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดที่สามารถนำกลับมาหลอมใช้ประโยชน์ใหม่ได้ หรือที่เรียกว่า เทอร์โมพลาสติก จัดเป็นสินค้านำเข้าถูกต้องตรงตามรายละเอียดที่แสดงไว้ตามประกาศกรมศุลกากร ส่วนตู้สินค้าที่ 2 ตรวจพบเศษผงละเอียด มีลักษณะปะปน สีดำ เทา เทาเขียว เทาเหลือง บรรจุในบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนขนาดใหญ่ (Big Bag) จำนวน 20 ถุง น้ำหนักรวม 28 ตัน เบื้องต้นยังไม่ทราบชนิดและการปนเปื้อนที่ชัดเจน
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก ดำเนินการเก็บตัวอย่างเศษผงละเอียด เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ทดสอบทางห้องปฏิบัติการ หากผลการพิสูจน์ตรวจพบว่าเข้าข่ายเป็นของเสียอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะดำเนินการตามขั้นตอนของอนุสัญญาบาเซลและดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการกับการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของเสียอย่างผิดกฎหมายต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อนุสัญญาบาเซล #BaselConvention #ของเสียอันตราย #ท่าเรือแหลมฉบัง #เศษพลาสติก #พลาสติกเอบีเอส #เทอร์โมพลาสติก #BigBag #พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย