เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และ นายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจติดตามกรณีได้รับการร้องเรียนความเดือดร้อนรำคาญจากประชาชน เหตุลักลอบเททิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เจ้าหน้าที่ กรอ. และอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายภูริวัฒน์ คงเจริญสุข ปลัดอำเภอบางปะหัน เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินเอกชนแห่งหนึ่ง เป็นพื้นที่ของสถานประกอบกิจการซื้อ–ขายกระเบื้องเคลือบดินเผา ตั้งอยู่ที่ตำบลขวัญเมือง อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากการพูดคุยกับเจ้าของที่ดินพบว่า ช่วงปลายปี 2565 มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ลักลอบเททิ้งของเหลวลักษณะข้น สีเข้ม และมีกลิ่นเหม็น ลงสู่ลำรางดินริมถนน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่พบคราบสีดำคล้ายสารเคมี จึงตรวจวิเคราะห์ของเหลวบริเวณที่ดินดังกล่าวและน้ำในบ่อดินใกล้เคียง พบความเป็นกรด–ด่าง (pH) มีค่า 3-4 สถานะเป็นกรดแก่ เข้าข่ายของเสียเคมีวัตถุตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
เวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบโรงงานร้าง ในตำบลขวัญเมือง อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมเคยประกอบกิจการเกี่ยวกับหินอ่อนและหินแกรนิต จากการสำรวจพบเศษซากถุงพลาสติกและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจำนวนมากกระจายรอบพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง อีกทั้งมีคราบน้ำสีน้ำตาลส้มบนผนังอาคารและพื้นดิน เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจเป็นคราบจากกระบวนการผลิตหรือร่องรอยน้ำท่วมในบริเวณที่มีการลักลอบขนย้ายสารเคมีมาทิ้งโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อตรวจวิเคราะห์ของเหลวพบความเป็นกรด–ด่าง (pH) มีค่า 2-3 สถานะเป็นกรดแก่ ทั้งนี้ กรอ. จะประสานแจ้งข้อมูลไปยังเจ้าของที่ดินและผู้เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบหาแหล่งที่มาและข้อมูลเพิ่มเติม
จากนั้น เดินทางไปยังพื้นที่เอกชนแห่งหนึ่ง ในตำบลไผ่ล้อม อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจติดตามกรณีลักลอบเททิ้งกากอุตสาหกรรมในบ่อดินขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นของเหลวข้น สีเข้มผิดปกติ มีคราบน้ำมันลอยบนพื้นผิวน้ำ กลิ่นเหม็นสารเคมี และมีสภาพเป็นกรด ซึ่งจากการรวบรวมพยานหลักฐานพบว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโรงงานผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กรอ. ดำเนินการเก็บตัวอย่างของเหลวและวัตถุต้องสงสัยจากทั้ง 3 พื้นที่ เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ทดสอบทางห้องปฏิบัติการโดยใช้ระยะเวลาตรวจวิเคราะห์ประมาณ 14 วัน และจะเข้าแจ้งความกล่าวโทษกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดย กรอ. จะใช้เครื่องมือปราบปรามในหลักการ “ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP)” ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา #พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย #กากอุตสาหกรรม #ของเสียอันตราย #ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบ #PolluterPaysPrinciple #การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว2566