เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางสาวรัตนา รักษ์ตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการวัตถุอันตราย นายรินทวัฒน์ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม นางสาวอารยา ไสลเพชร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน นางอัญชลี ยิ่งทวีสิทธิกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ (SME Fund) ณ ห้องประชุม 505 กรมโรงงานอุตสาหกรรม และร่วมประชุมออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meetings
การประชุมในครั้งนี้ เพื่อหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ใน 3 ประเด็น ดังนี้
1. กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีการดับจับ และเก็บกักคาร์บอนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม นอกเหนือจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สนับสนุนอยู่แล้วในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และกิจกรรมห้องเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ
2. กำหนดมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SME) ที่ลงทุนในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
3. กำหนดแนวทางการส่งเสริมธุรกิจ Startup ที่มีการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม หรือบริการที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เช่น แอปพลิเคชั่นสำหรับเรียกแท็กซี่ โดยสามารถบันทึกข้อมูลของรถแท็กซี่ และแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ ผลที่ได้รับจากการหารือดังกล่าว จะพัฒนาเป็นแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบาย MIND การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ส่งเสริมผู้ประกอบการ และการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศต่อไป