นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์วิทยุ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องสารเคมีและวัตถุอันตรายที่ใช้ในกิจการอุตสาหกรรม โดยควบคุมตั้งแต่การผลิต การนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และมีไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยสารโพแทสเซียม ไซยาไนด์ เป็น 1 ใน 340 สารที่ถูกควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หรือใช้ระบบการอนุญาต และไม่มีการผลิตสารเคมีชนิดนี้ในประเทศเป็นการนำเข้ามาทั้งหมด ซึ่งสามารถแบ่งผู้ใช้สารนี้ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1. ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
2. ใช้สอยส่วนบุคคล เช่น ใช้สำหรับห้องปฏิบัติการ (Lab) หรือผู้ประกอบการชุบโลหะรายย่อย ซึ่ง 2 กลุ่มนี้ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขออนุญาตครอบครองตามกฎหมาย
3. ผู้ค้าปลีก หากมีวัตถุอันตรายชนิดเดียวกันหรือหลายชนิดไว้ในครอบครอง ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ปริมาณมากกว่า 1,000 กิโลกรัม จะต้องขออนุญาตครอบครองจากกรมโรงงานฯ
ทั้งนี้ หากผู้ใช้ทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นมีการครอบครองวัตถุอันตรายตามรายชื่อที่กำหนดในกฎหมายชนิดใดชนิดหนึ่งตั้งแต่ 100 กิโลกรัม ในรอบ 6 เดือน จะต้องรายงาน (แจ้ง) ให้ กรมโรงงานฯ ทราบด้วยเช่นกัน
กรณีข่าวที่มีบุคคลนำสารไซยาไนด์ไปใช้ฆาตกรรมบุคคลอื่นนั้น ต้องขอเรียนว่า ผู้ต้องหาคดีดังกล่าวมีเจตนานำสารไซยาไนด์ไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ หรือนำไปใช้ในทางที่ผิด อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานฯ ได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้ตรวจสอบข้อมูลจากผู้ค้าปลีกย้อนกลับไปยังต้นทาง ทำให้พอจะทราบแล้วว่าสารดังกล่าวมาจากผู้ประกอบการนำเข้ารายใด
กรมโรงงานฯ เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายวัตถุอันตราย เพื่อร่วมกำหนดแนวทางควบคุมการจำหน่ายให้บุคคลทั่วไป ซึ่งอาจต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาออกเป็น มติ ครม. เหมือนกรณีการควบคุมพิเศษ 3 สาร ที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสารตั้งต้นยาเสพติดได้ อย่างสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลไซยาไนด์ และสารเบนซิลคลอไรด์ ที่กรมโรงงานฯ ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อต้นปี 2566
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #กระทรวงอุตสาหกรรม #MIND #กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย #จส100 #ไซยาไนด์