วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือการจัดการกากของเสีย เพื่อนำข้อมูลประกอบหลักฐานการดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบกักเก็บและเททิ้งกากอุตสาหกรรม สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน โดยมี นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง ผู้อำนวยการกองกฎหมาย นายปณตสรรค์ สูจยานนท์ ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 1 นายภัทรพล ลิ้มภักดี ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 2 นายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ เจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (Central Investigation Bureau: CIB) พร้อมด้วย ผู้แทนผู้ประกอบกิจการโรงงานจำนวน 51 โรงงาน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 509 ชั้น 5 อาคารกรมโรงงานอุตสาหกรรม
อธิบดีกรมโรงงานฯ เปิดเผยว่า ช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ตรวจพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา โดยส่วนใหญ่เป็นของเสียอันตรายที่มีฤทธิ์เป็นกรด ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน และจากการตรวจสอบแหล่งที่มาของกากอุตสาหกรรมพบว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ประกอบการกิจการคัดแยกสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และนำสารละลายกรด-ด่างที่ใช้แล้วมาผ่านกรรมวิธีทางอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ได้ถูกคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว ซึ่งในช่วงเวลาที่โรงงานแห่งนี้เปิดรับสิ่งปฏิกูลได้เป็นห้วงเวลาเดียวกันกับการสืบพบการลักลอบกักเก็บและเททิ้งกากอุตสาหกรรมจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าว
การประชุมในครั้งนี้ เป็นการขอความร่วมมือผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) จากระบบการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทางอิเล็กทรอนิกส์ของ กรอ. เพื่อเข้าร่วมให้ข้อมูลยืนยันหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และทำความเข้าใจถึงผลกระทบจากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมของผู้รับบำบัดกำจัด (Waste Processor) ที่ขาดความรับผิดชอบ พร้อมชี้แจงขอบเขตการรับผิดชอบ ตามหลักการ “ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP)” ซึ่งเป็นหลักกฎหมายสากลที่กำหนดภาระความรับผิด (Liability) ตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิดไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนเสร็จเรียบร้อย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ การนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับอนุญาตแล้วแต่ไม่นำไปบำบัดกำจัดกับโรงงานที่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาทต่อ 1 ข้อกล่าวหา ซึ่งฐานบทกำหนดโทษในข้อหาดังกล่าวกำลังถูกเสนอแก้ไขให้มีโทษจำคุกเพิ่มขึ้นด้วย อันจะเป็นการป้องปรามและทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำในข้อหาดังกล่าว
“การที่ของเสียไม่ไปอยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ เป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านทุกนาที ขอขอบคุณผู้ประกอบกิจการที่ให้ความร่วมมือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ขอให้มั่นใจว่า กรอ. จะใช้เครื่องมือทางกฎหมายกำกับดูแลและติดตามผลการบริหารจัดการของเสียหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ยืนยันผู้กระทำความผิดต้องได้รับการลงโทษและชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อส่วนรวม” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #กากอุตสาหกรรม #โกดังอุทัย #โกดังภาชี #อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา #ของเสียอันตราย #ผู้ก่อกำเนิดของเสีย #WasteGenerator #ผู้รับบำบัดกำจัด #WasteProcessor #Liability #ประกาศกระทรวง