เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ปัญหาร้องเรียน จากการประกอบกิจการโรงงานของ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ภายใต้โครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน 800 ตันต่อวันเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพขนาด 4.2 MW ซึ่งบริษัทฯ เป็น “วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร” ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 3 ใบอนุญาต ได้แก่ 1) ประเภทโรงงานลำดับ 106 ผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะชุมชน 2) ประเภทโรงงานลำดับ 89 ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำหมักขยะมูลฝอย และ 3) ประเภทโรงงานลำดับ 88 ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ ตั้งอยู่ที่ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ซอยอ่อนนุช 86 แยก 1 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร โดยการตรวจในครั้งนี้มี นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (สสล.กทม.) นางสาวชฎารัตน์ สุนทรเกตุ ผู้อำนวยการเขต สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประจำเขต 13 กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายภัทรพล ลิ้มภักดี ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 2 และเจ้าหน้าที่กองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน ร่วมลงพื้นที่ด้วย
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานตามที่ได้สั่งการแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ออกคำสั่งให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงานชั่วคราว เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาดังกล่าวจนกว่าจะเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
(1) โรงงานลำดับ 106 กรอ. สั่งการให้บริษัทฯ ป้องกันกลิ่นเหม็นจากการประกอบกิจการโรงงานส่วนพื้นที่ขนถ่ายขยะเข้าอาคารรับวัตถุดิบและพื้นที่บริเวณขนถ่ายเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF (Refuse Derived Fuel) ก่อนออกจากอาคารโรงงาน รวมถึงการบำบัดน้ำเสียทั้งหมดตามลำดับขั้นตอนสอดคล้องกับเงื่อนไขการอนุญาต และแสดงรายงานสมดุลมวลน้ำเสีย ตลอดจนการเฝ้าระวังผลกระทบเรื่องกลิ่นรบกวนด้วยการทดสอบตัวอย่างกลิ่นโดยวิธีการตรวจวัดตามที่กรมอนามัยกำหนด ซึ่งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่ได้รับคำสั่ง (ครบกำหนดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566) ทั้งนี้ บริษัทฯ ดำเนินการปรับปรุงตามข้อสั่งการ และจะจัดการไม่ให้มีขยะตกค้างในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบพบว่าน้ำชะขยะจากโรงงานลำดับ 106 ที่ส่งไปบำบัดน้ำเสียขั้นต้นยังโรงงานลำดับ 89 เพื่อหมุนเวียนใช้ในโรงงาน เมื่อมีการตีอากาศในน้ำเสียทำให้เกิดกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายไปยังชุมชนบริเวณด้านหลังโรงงานขณะมีลมพัดผ่าน กรอ. จึงเตรียมสั่งการเพิ่มเติมตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้บริษัทฯ จัดทำระบบรวบรวมอากาศและหมุนเวียนอากาศแบบระบบความดันลบ (Negative Pressure) โดยเสนอรูปแบบให้ กรอ. พิจารณาภายใน 30 วันนับแต่ได้รับคำสั่ง เพื่อบรรเทาเหตุเดือดร้อนรำคาญที่เกิดขึ้นต่อชุมชนใกล้เคียง
(2) โรงงานลำดับ 89 กรอ. สั่งการให้บริษัทฯ ระงับน้ำหมักขยะมูลฝอย/น้ำชะขยะมูลฝอย และให้จัดทำแผนการจัดการน้ำเสียที่ตกค้างอยู่ในระบบบำบัดน้ำเสียทั้งหมดในโรงงานไปบำบัดหรือกำจัดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ พร้อมจัดทำเอกสารชี้แจงการเปลี่ยนแปลงสมดุลมวลปริมาณขยะชุมชนและปริมาณน้ำเสียต่อวัน รวมทั้งจัดทำวิธีการเดินระบบที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำเสียเข้าโรงงาน โดย กรอ. อนุญาตขยายระยะเวลาปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ขณะเดียวกันได้ให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำเสียภายในโรงงานในส่วนของระบบบำบัดเเบบไม่ใช้อากาศ (Anerobic Digestion: AD) และระบบเติมอากาศ จำนวน 7 จุด เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข
“ “ขยะเกิดขึ้นที่ใด ควรได้รับการจัดการที่นั่น” โดย กรอ. พร้อมหน่วยงานราชการ ยินดีสนับสนุนให้เกิดระบบการจัดการโรงงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้โรงงาน ชุมชน และสังคม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นมิตร แต่หากไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ กรอ. จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #กรุงเทพธนาคม #NegativePressure