เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 เวลา 15.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมด้วย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุยา เพื่อตรวจสอบติดตามสภาพปัญหาลักลอบเก็บสารเคมีวัตถุอันตรายหลายชนิด ราว 4,000 ตัน ภายในโกดังเก่าซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ จำนวน 5 หลัง ตั้งอยู่ที่อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายพิทยา ปราโมทย์ วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสาวอภิสรา เกษอินทร์ นายอำเภอภาชี พันตำรวจเอก ปิติพันธ์ กฤดากร ณ อยุธยา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรภาชี นางสาวธนภร โสมทองแดง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมด้วย นายณรงค์ชัย ศิริวัฒน์เจริญ หนึ่งในเจ้าของโกดัง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
ต่อมาในเวลา 18.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมด้วย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานการประชุมร่วมกับตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการของเสียอันตราย ทั้งในพื้นที่โกดังและบริเวณโดยรอบโกดัง ตลอดจนพื้นที่เกษตรกรรมใกล้เคียง ณ ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอภาชี ตำบลภาชี อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยที่ประชุมมีความเห็นให้จัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการประกอบกิจการโรงงานในระดับจังหวัด เพื่อประสานความร่วมมือให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยจะยก “ราชบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบบริหารจัดการปัญหา ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้วางแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ระยะ นั่นคือ
ระยะที่ 1 เป็นระยะเร่งด่วน ทำคันดินล้อมรอบลำรางสาธารณประโยชน์หน้าโกดัง พร้อมเร่งจัดการน้ำเสียปนเปื้อนสารเคมีบริเวณทางระบายน้ำหน้าโกดัง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โดยจะดำเนินการปรับปรุงพื้นที่และสูบน้ำเสียปนเปื้อนดังกล่าวบรรจุในถังพลาสติกขนาด 1,000 ลิตร นำไปเก็บไว้ในโกดัง ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะมีจำนวนกว่า 300 ถัง ทั้งนี้ ได้รับความยินยอมจากเจ้าของโกดังให้ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บน้ำเสียปนเปื้อนที่ถูกสูบแล้ว
ระยะที่ 2 เตรียมออกคำสั่งให้เจ้าของโกดังในฐานะเจ้าของพื้นที่ผู้ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องรับผิดชอบเคลื่อนย้ายสารเคมีวัตถุอันตรายทั้งหมด ราว 4,000 ตัน ออกไปกำจัดบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2566 นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
พร้อมกันนี้ เจ้าของโกดังได้ยื่นเอกสารข้อมูลหลักฐานต่ออธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้เช่าโกดังที่แอบลักลอบเก็บสารเคมีวัตถุอันตรายนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ บริษัทฯ แห่งหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา #พระราชบัญญัติโรงงาน #พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย #กากอุตสาหกรรม #ของเสียอันตราย #โกดังภาชี #ราชบุรีโมเดล #กรมควบคุมมลพิษ