เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้ นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง ผู้อำนวยการกองกฎหมาย นางสาววิชุดา สัมฤทธิ์ผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันตก นายทวี อำพาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก พร้อมด้วย นายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ นางสาวอภิสรา เกษอินทร์ นายอำเภอภาชี เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาชี ลงพื้นที่โกดังเก่าซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ ตั้งอยู่ที่อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อกระจายกำลังสำรวจตรวจนับสารเคมีอันตราย ภายหลังตรวจพบการลักลอบเก็บสารเคมีวัตถุอันตรายหลายชนิด ซึ่งได้ดำเนินการยึดของเสียอันตรายทั้งหมดไว้ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
เมื่อเข้าไปภายในโกดัง ซึ่งประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง ปรากฎว่า ประตูทางเข้า–ออกที่เชื่อมต่อระหว่างอาคารถูกก่ออิฐปิดทึบไว้เพื่อปกปิดอำพรางสารเคมีวัตถุที่ซุกซ่อน เจ้าหน้าที่จึงต้องทลายพังกำแพงเข้าไป พบของเหลวมีฤทธิ์เป็นกรดบรรจุถังขนาด 1,000 ลิตร ของเหลวคล้ายกากน้ำมันบรรจุถังขนาด 200 ลิตร และเคมีวัตถุอันตรายอื่นอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังพบร่องรอยการลักลอบเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรม วัตถุอันตราย และสารเคมีวัตถุโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ ทั้งนี้ ข้อมูลหลักฐานได้ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนย้ายดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับ บริษัทฯ แห่งหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ประเมินพื้นที่เพื่อตรวจนับสารเคมีอันตรายทั้งหมดได้มากกว่า 4,000 ตัน พร้อมเก็บตัวอย่างกากอุตสาหกรรม วัตถุอันตราย รวมทั้งสารเคมีวัตถุภายในพื้นที่โกดังและบริเวณโดยรอบโกดัง ตลอดจนพื้นที่เกษตรกรรมใกล้เคียง เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ทดสอบทางห้องปฏิบัติการ และนำไปใช้เป็นข้อมูลหลักฐานในการสืบสวนสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จนถึงที่สุด
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา #พระราชบัญญัติโรงงาน #พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย #กากอุตสาหกรรม #ของเสียอันตราย #โกดังภาชี