เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้ นายขจรพงศ์ ศิริวิสูตร ผู้อำนวยการกลุ่มจัดการกากอุตสาหกรรม 1 กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ นายอรรจน์ชญาณ์ ธนาภาชูสิทธิ์ ปลัดอำเภออุทัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรอุทัย ลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังต้องสงสัยแห่งหนึ่ง โดยขยายผลจากการแกะรอยข้อมูลเชื่อมโยงกับโกดังเก่าที่อำเภอภาชีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในครั้งนั้นได้ตรวจสอบพบการลักลอบเก็บสารเคมีอันตราย จึงทำการยึดของเสียวัตถุอันตรายกว่า 4,000 ตัน พร้อมแจ้งความดำเนินคดีต่อสถานีตำรวจภูธรภาชีเป็นที่เรียบร้อย
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบในครั้งนี้ พบโกดังถูกปิดล้อมด้วยตาข่ายกรองแสง หรือที่เรียกกันว่า สแลน (Shading Net) ประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง ตั้งอยู่บนถนนอุทัย–ภาชี ตำบลอุทัย อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโกดังของ บริษัท ซันเทค เคมิคอล แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย (โรงงานลำดับที่ 105) แต่จากการตรวจภายในโกดังกลับพบของเหลวซึ่งเป็นของเสียอันตรายที่เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งเป็นของเสียที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 เท่านั้น โดยพบของเหลวบรรจุในถังขนาด 200 ลิตร เช่น กากตะกอนน้ำมัน กากสี สารทำละลาย หรือ solvent เป็นต้น บนพื้นโกดังพบคราบของเหลวสีส้มมีกลิ่นเหม็นฉุนคลายกรดและน้ำมันเครื่องเก่า นอกจากนี้ บริเวณลานด้านนอกอาคารยังพบกองขยะพลาสติกจำนวนมากที่สันนิษฐานว่าอาจมีวัสดุอื่นทับถมอยู่ด้วย
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงทำการยึดของเสียวัตถุอันตรายทั้งหมดในทันที โดยปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณโกดังดังกล่าว พร้อมนำข้อมูลหลักฐานเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ในฐานความผิดครอบครองวัตถุอันตราย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และโทษจะเพิ่มขึ้นหากตำรวจสอบสวนพิสูจน์ได้ว่ามีการขนย้ายต่างกรรมต่างวาระ โดยหลังจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะออกคำสั่งให้โรงงานดังกล่าวหยุดประกอบกิจการชั่วคราว เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนไปยังพื้นที่อื่นต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา #กากอุตสาหกรรม #ของเสียอันตราย #โรงงาน105 #โรงงาน106