วันที่ 31 มกราคม 2566 ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวิชร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าตรวจเยี่ยมกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยมี นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ นายพรยศ กลั่นกรอง นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 509 ชั้น 5 อาคารกรมโรงงานอุตสาหกรรม
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รายงานผลการดำเนินงานของปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย บทบาท ภารกิจ โครงสร้าง งบประมาณภาพรวมปี 2566 และคำของบประมาณปี 2567 และแนวทางการปฏิรูปหน่วยงานและปรับแนวทางการปฏิบัติงานในอนาคตของ กรอ. ตามแนวทางการปฏิรูปหน่วยงาน ภายใต้แนวคิด “ปฏิรูปหน่วยงาน Mind ใช้ หัว และใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” ใน 4 มิติ คือ มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ มิติที่ 2 ชุมชน/สังคม มิติที่ 3 สิ่งแวดล้อม มิติที่ 4 การกระจายรายได้
ซึ่ง กรอ. มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม โดยการส่งเสริม สนับสนุน กำกับดูแลการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันให้ธุรกิจอุตสาหกรรมมีศักยภาพในการแข่งขัน พัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นที่ยอมรับของสากล ซึ่งปัจจุบัน กรอ. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบบริการภาครัฐดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีเป้าหมายการออกใบอนุญาตออนไลน์ภายในปี 2568 รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายและระบบการกำกับโรงงาน กากของเสียอุตสาหกรรม รวมถึงสารเคมีและวัตถุอันตราย ที่เป็นมาตรฐานควบคู่ไปกับเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างโปร่งใส พร้อมผลักดันกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับภารกิจ สร้างความเชื่อมั่นของชุมชนต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม และวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สู่เกณฑ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนมีความรู้สึกว่าโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งสร้างผลกระทบเชิงลบโดยรอบโรงงาน รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนและไม่เป็นมิตรต่อสังคมรอบข้าง ดังนั้น กรอ. จึงควรมีการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ มุ่งความสำเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย ความสำเร็จทางธุรกิจ ชุมชนและสังคม สิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้ โดยเน้นย้ำให้ใช้ MIND เป็นแนวทางในการส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ สังคม และชุมชน ให้อยู่ร่วมกันด้วยความรับผิดชอบ รวมทั้งการผลักดันมาตรการให้โรงงานดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของประชาคมโลกในด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างค่านิยมให้ กรอ. เป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส มีความเป็นกลาง และใส่ใจภาคประชาชน พร้อมทั้งกำชับให้โรงงานอุตสาหกรรม กรอกข้อมูลใน i-Single Form เพื่อสร้างฐานข้อมูลในการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ต่อไป
ขณะที่ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า กรอ. คือหน่วยงานแรกเริ่มให้เกิดการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรม นำไปสู่การกระจายรายได้ อย่างไรก็ตามจะต้องคำนึกถึงสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย รวมทั้ง การสนับสนุนให้โรงงานเป็น Hero เพื่อช่วยเหลือและกระจายรายได้สู่ชุมชน นอกจากนี้ ควรมีการบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ อย่างไรก็ดี ควรมีการหารือและสร้างความเข้าใจให้ตรงกันมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ
ด้าน เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นย้ำว่า กรอ. ต้องกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดและจริงจัง พร้อมศึกษาความต้องการของประชาชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อการแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด ซึ่งจะทำให้สังคมโดยรอบโรงงานอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
ทั้งนี้ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติม เช่น หน่วยงานส่วนกลางควรลงไปช่วย สอจ. ในเชิงลึก และควรมีการศึกษากฎหมายใหม่ ๆ อยู่เสมอ ส่วนในด้านการกำกับติดตามโรงงานในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังทำได้ไม่ทั่วถึง ควรหากลไกหรือเครื่องมือเข้ามาช่วยตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #GreenEconomy