You are currently viewing อธิบดีกรมโรงงาน ลั่น!! การประกอบกิจการโรงงานต้องไม่ส่งผลกระทบประชาชนในพื้นที่ งัดทุกข้อกฎหมายสะสางกาก “แวกซ์ กาเบ็จ” ยก “ราชบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบจัดการปัญหา

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม แก้ปมมลพิษจากโรงงาน บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ตลอดจนวางแผนฟื้นฟูมลพิษให้สิ่งแวดล้อมคืนสู่ธรรมชาติ ยืนยันการประกอบกิจการโรงงานต้องไม่สร้างผลกระทบประชาชนในพื้นที่ ตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม “MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” โดยประสานความร่วมมือกับจังหวัดราชบุรีและกรมควบคุมมลพิษ ใช้ทุกข้อกฎหมายจัดการปัญหากากตกค้าง พร้อมเดินหน้าจัดหางบประมาณสำหรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายที่ตกค้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ยกกรณี แวกซ์ กาเบ็จ เป็น “ราชบุรีโมเดล” ต้นแบบการบริหารจัดการปัญหาที่จะนำไปใช้กับพื้นที่อื่นที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาการแพร่กระจายของของเสียและกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายจากโรงงาน บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย รับวัสดุเหลือใช้และเคมีภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ บนพื้นที่มากกว่า 54 ไร่ ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 8 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซ้ำเกิดเพลิงไหม้ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จึงได้สั่งการตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้ และสั่งให้บริษัทหยุดประกอบกิจการโรงงาน พร้อมเร่งรัดให้ปฏิบัติตามแผนการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมไปกำจัดอย่างถูกวิธีและเป็นไปตามข้อกฎหมาย โดยกำชับให้ดำเนินการในส่วนพื้นที่ไฟไหม้ก่อน ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 มกราคม 2566 ตามมติที่ประชุมคณะทำงานตรวจสอบแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการประกอบกิจการโรงงานของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 พร้อมย้ำการประกอบกิจการโรงงานต้องไม่สร้างผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม “MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน”

นายจุลพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า กรอ. ได้ร่วมมือกับจังหวัดราชบุรี และกรมควบคุมมลพิษ นำทุกข้อกฎหมายมาใช้แก้ปัญหา โดยดำเนินการจัดทำแผนกำจัดของเสียและวัตถุอันตรายที่ตกค้างในพื้นที่ ควบคู่กับการจัดหางบประมาณสำหรับกำจัดกากอุตสาหกรรมและวัตถุอันตรายดังกล่าว ทั้งนี้ กรอ. อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อทำโครงการกำจัดบำบัดของเสียบนดินที่ตกค้างในและนอกโรงงาน วงเงินประมาณ 60 ล้านบาท คาดว่าระยะเวลาที่สำนักงบประมาณพิจารณาและเสนอนายกรัฐมนตรีตามระเบียบประมาณ 3 เดือน นอกจากนี้ กรอ. ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2565 โดยที่ประชุมมีมติรับทราบแนวทางและให้ กรอ. ดำเนินการต่อไป ซึ่งแนวทางจะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 กำจัดของเสียที่ตกค้างบนดินทั้งในและนอกโรงงาน พร้อมค้นหาจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่อยู่ใต้ดินภายในโรงงาน ระยะที่ 2 กำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษใต้ดินที่แพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมฟื้นฟูสภาพแวดล้อม จากนั้นจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากบริษัท

ด้าน นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ได้สั่งระงับการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย พร้อมเข้าสังเกตการณ์ภายในพื้นที่เพื่อกำกับติดตามให้บริษัทดำเนินการเคลื่อนย้ายของเสียทั้งหมดไปกำจัดบำบัดให้ถูกต้อง โดยดำเนินการเคลื่อนย้ายของเสียที่ถูกเพลิงไหม้ไปแล้วกว่า 1,084 ตัน ประกอบด้วย ของเสียผสมรวมในถัง 200 ลิตร เศษถังโลหะปนเปื้อน ดินปนเปื้อน น้ำเสียปนเปื้อน และยังคงเหลือดินปนเปื้อนบางส่วน

ด้าน นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน กรณีบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด โดยได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายจากการประกอบกิจการโรงงานของ ตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เมื่อปี พ.ศ. 2562 จำนวน 36.28 ล้านบาท และจากเหตุเพลิงไหม้โรงงาน เมื่อปี พ.ศ. 2565 คพ. ได้รวบรวมค่าใช้จ่ายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว เพื่อฟ้องเรียกค่าใช้จ่าย อีก 2.84 ล้านบาท สำหรับการดำเนินคดีอาญา ได้ดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนภูธรจอมบึงเพื่อดำเนินคดีกับโรงงานตามมาตรา 119 และ 119 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 เมื่อปี พ.ศ. 2560 และตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เมื่อปี พ.ศ. 2565 ด้วย

ทั้งนี้ ทส. ยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาฟื้นฟูน้ำใต้ดินปนเปื้อนจากการประกอบกิจการ รวมทั้งการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในภาคประชาชนและรู้ทันสถานการณ์การปนเปื้อนมลพิษในปัจจุบัน

กรอ. ยืนยันจะใช้ข้อกฎหมายทั้งหมดที่มีอยู่เป็นเครื่องมือ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ได้ให้ความสำคัญและเห็นชอบให้ กรอ. ยกกรณีนี้เป็น “ราชบุรีโมเดล” และนำไปใช้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการปัญหากับโรงงานในพื้นที่อื่นที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อผลที่เกิดจากการประกอบกิจการ โดยต้องไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและประชาชน” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย

 

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #จังหวัดราชบุรี #กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม #กรมควบคุมมลพิษ #กากอุตสาหกรรม #แวกซ์กาเบ็จ #บริษัทแวกซ์กาเบ็จรีไซเคิลเซ็นเตอร์จำกัด #ไฟไหม้แวกซ์กาเบ็จ #ราชบุรีโมเดล #ชาวบ้านน้ำพุ