สมุทรปราการ : นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตรองเท้าอย่างใกล้ชิด เผยเบื้องต้นไม่พบการเผาไหม้ของสารเคมีอันตรายภายในโรงงาน ที่ส่งผลต่อมลพิษทางอากาศ ยืนยันประชาชนโดยรอบปลอดภัย
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตรองเท้า จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ลงพื้นที่ด่วนเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดได้ส่งวิศวกรของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมรถตรวจมลพิษเคลื่อนที่เข้าพื้นที่ประเมินผลกระทบด้านมลภาวะทางอากาศ ซึ่งผลจากการตรวจวัดพบว่าไม่เกินค่ามาตรฐาน
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า อาคารที่เกิดเพลิงไหม้ เป็นของบริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรองเท้า ยี่ห้อ Aerosoft ตั้งอยู่บริเวณถนนบางนา-ตราด อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยอาคารที่เกิดเหตุเพลิงไหม้เป็นอาคารสูง 5 ชั้น ใช้เป็นอาคารสำนักงานและโชว์รูมจัดแสดงสินค้า แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปภายในตัวอาคารได้ ประกอบกับสถานที่ดังกล่าวเป็นที่เก็บสินค้าประเภทรองเท้าซึ่งเป็นเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี ทำให้เพลิงไหม้ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว และการควบคุมเพลิงเป็นไปด้วยความยากลำบาก อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถควบคุมเพลิงไหม้ได้ในช่วงเวลา 22.45 น. จากการตรวจสอบจุดเพลิงไหม้พบว่าเป็นอาคารของโชว์รูมไม่ได้ลุกลามเข้าไปในส่วนของโรงงานผลิตรองเท้าที่อยู่บริเวณอาคารถัดไป ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นที่จัดเก็บสารเคมีต่าง ๆ ของทางบริษัท อย่างไรก็ดีทางเจ้าหน้าที่ยังคงต้องเฝ้าระวังการประทุของเชื้อไฟที่อาจเกิดขึ้นได้ เบื้องต้นจากการตรวจสอบไม่พบผู้เสียชีวิต โดยคาดว่าสาเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้อาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโรงงานฯ ได้ให้ความร่วมมืออย่างดี พร้อมรับผิดชอบในทุกความเสียหาย และฝากขออภัยต่อประชาชนที่ต้องได้รับผลกระทบจากการสัญจรและกลุ่มควันจากเปลวเพลิงที่มีการเผาไหม้หลายชั่วโมง
“ท่านรัฐมนตรีฯ สุริยะ ได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะสามารถควบคุมเพลิงไหม้ได้แล้วก็ตาม โดยได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดส่งรถตรวจมลพิษและทีมวิศวกรลงพื้นที่ เพื่อเข้าตรวจสภาพอากาศ น้ำ และเศษซากกากที่อาจหลงเหลืออยู่บริเวณโดยรอบโรงงาน เบื้องต้นผลจากการตรวจสอบ พบว่ายังมีกลุ่มควันอยู่เล็กน้อย และไม่พบการเผาไหม้ของสารเคมี ขณะเดียวกันได้ตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณภายนอกอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 จำนวน 2 จุด คือจุดที่ 1 ด้านหน้าอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ พบว่าปริมาณออกซิเจนในอากาศ (O2) = 19.8% สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) = 0.8 ppm ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 100 ไมครอน (TSP) = 56 µg/m3 ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) = 32 ug/m3 ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) = 11.4 ug/m3 และจุดที่ 2 บริเวณสะพานลอยทางเข้าโรงงาน พบค่า ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) = 5.0 ppm ฝุ่นละออง TSP = 78 µg/m3 ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) = 47 µg/m3 และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) = 21.4 µg/m3 ซึ่งแปลผลโดยสรุปได้ว่าผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศมีค่าความปลอดภัยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกรายการ และในส่วนของก๊าซอื่น ๆ เช่น ไนตริกออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ แอมโมเนีย ที่อาจส่งผลกระทบต่อมลภาวะก็ตรวจวัดไม่พบ” นายจุลพงษ์ กล่าว