นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ชี้แจงด่วน! กรณีข่าวพบสารก่อมะเร็งใน กทม. และปริมณฑลเข้าขั้นวิกฤต
ตามที่ นายพงศ์พรหม ยามะรัต รองหัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงคุณภาพอากาศของประเทศไทยว่า วิกฤตหนักที่กรุงเทพและปริมณฑล กำลังเจอ NOx gas สารก่อมะเร็งที่ลอยอยู่ในอากาศเกิดจากการสันดาปเครื่องยนต์ดีเซล “สกปรก” และเครื่องฟอกอากาศไม่สามารถกำจัดได้ โดยสาเหตุสำคัญมาจากการใช้น้ำมันยูโร 1-3 ที่ทั่วโลกห้ามใช้ แต่กลับมีการใช้ในประเทศไทย รวมถึงการไม่เข้มงวดกับการปล่อยไอเสียของรถควันดำและโรงงานอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขอชี้แจงดังนี้
1. กระบวนการหลักที่ก่อให้เกิดออกไซด์ของไนโตรเจน มาจากกระบวนการเผาไหม้ ได้แก่ เชื้อเพลิงที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิลและเชื้อเพลิงชีวมวล (ไนโตรเจนจากเชื้อเพลิง, fuel NOx) และการเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,100 องศาเซลเซียส (ไนโตรเจนจากอากาศ, 79%, prompt NOx) ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดมาตรฐานการระบาย NOx จากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงและจากการประกอบกิจการโรงงาน (โรงงานทุกประเภท) รวมถึงมีการกำหนดค่ามาตรฐานการระบาย NOx เฉพาะประเภทอุตสาหกรรม เพื่อให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิต วิธีการควบคุมมลพิษ และลักษณะการประกอบกิจการ เช่น โรงไฟฟ้า โรงปูนซีเมนต์ โรงผลิตแก้วโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
2. กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน ได้ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องระบายแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง(CEMS) จาก 226 ปล่อง 86 โรงงาน เป็นของภาคตะวันออก 79 ปล่อง ภาคกลาง 86 ปล่องพบว่าค่า NOx ที่ระบายจากปล่องมีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ 400 ppm โดยตลอด และค่าเฉลี่ยของปีที่ค่า NOx สูงที่สุดจะอยู่ที่เพียง 39.75% ของค่ามาตรฐาน หรือต่ำกว่าค่ามาตรฐานประมาณ 2.5 เท่า
3.กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระบายมลพิษอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษอากาศ บังคับใช้เพิ่มเติม ดังนี้
3.1 กำหนดให้โรงงานประเภทต่างๆ ต้องติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษเพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ โดยจะให้โรงงานเป้าหมายที่มีขนาดและการใช้ประเภทเชื้อเพลิงตามที่กำหนด ทั่วประเทศส่งข้อมูลผลการตรวจวัดการระบายมลพิษให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้แสดงผลข้อมูลจากการตรวจวัดนี้ผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนเข้าติดตามผลการควบคุมการระบายมลพิษของโรงงานได้ตลอดเวลา
3.2 กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายต้องประเมินตนเองและรายงานปริมาณการระบายสารมลพิษ ซึ่ง NOx เป็นพารามิเตอร์หนึ่งที่โรงงานต้องทำการรายงานด้วยหากมีการปลดปล่อย
3.3 ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษอากาศจากโรงไฟฟ้า เพื่อควบคุมการระบายสารมลพิษหลัก คือ ฝุ่นละอองSO2 และ NOx ให้เข้มงวดขึ้น โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดการเผาไหม้ โดยนำความร้อนเหลือทิ้งจากการเผาไหม้มาใช้ประโยชน์ นอกจากจะช่วยลดการระบาย CO2 แล้ว ยังลดการระบาย NOx ฝุ่นละออง และสารมลพิษอื่นๆ อีกด้วย ทั้งนี้ ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตั้งเป้าหมายการลดการระบายมลพิษที่ดีกว่ากฎหมายกำหนด รวมถึงตั้งเป้าหมายลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงในปัจจุบันมีโรงงานเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมสีเขียวแล้วกว่า 44,414 ใบรับรอง
5. กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้โรงงานที่มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง เช่น โรงงานที่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต้องมีผู้ควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม และต้องตรวจวัดค่าการระบายมลพิษและจัดทำรายงาน เพื่อใช้กำกับให้โรงงานดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบายมลพิษไม่เกินที่กฎหมายกำหนด