นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามแผนงานยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมาย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สู่เมืองสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การใช้การหมุนเวียนทรัพยากร และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินการกับพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระยะที่ 1 : 15 จังหวัด 18 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา และจะผลักดันให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน ระยะที่ 2 เพิ่มอีก 15 พื้นที่ใหม่ ใน 11 จังหวัดเดิม (จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา และราชบุรี) และ 4 จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนหรือ SEZ (จังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว ตากและตราด) รวมทั้งระยะที่ 3 เพิ่มอีก 20 พื้นที่ใหม่ 20 จังหวัดใหม่ (จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี เชียงราย เชียงใหม่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชุมพร ลำปาง ลำพูน ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต พิษณุโลก บุรีรัมย์ อุดรธานี อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ และลพบุรี) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายในปี 2579 ประเทศไทยมีต้นแบบ “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ไม่น้อยกว่า 40 พื้นที่ ใน 37 จังหวัด โดยเมื่อนับรวมเป้าหมายการพัฒนาทั้ง 3 ระยะรวมทั้งสิ้น 39 จังหวัด 53 พื้นที่ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้มอบนโยบายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เดินหน้าประกาศพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะที่ 2 ใน 15 พื้นที่ใหม่ หลังประสบความสำเร็จในการดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะที่ 1 ใน 15 จังหวัด 18 พื้นที่ มาแล้ว พร้อมดันนโยบาย BCG Model มุ่งเน้นการพัฒนาให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ นำไปสู่การพัฒนา ที่สมดุลทุกมิติ ครอบคลุมทั่วภูมิภาคของประเทศต่อไป
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. มุ่งมั่นส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน จึงได้จัดพิธีมอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีโรงงานที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ หรือ CSR-DIW (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works) จำนวน 63 โรงงานและโครงการ CSR-DIW Continuous จำนวน 348 โรงงาน
นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบกิจการโรงงานเพื่อให้มีการขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน และนับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีการขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงานไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,505 ราย อธิบดี กรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย