นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ “ทีมตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม” ลงพื้นที่ตรวจสอบ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ภายหลังผลตรวจสอบคุณภาพเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 และ 32 มิลลิเมตร ที่เก็บตัวอย่างมาจากตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งปิดโรงงานของบริษัทฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 เนื่องจากบริษัทฯ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโรงงานในหลายประเด็น อีกทั้งยังมีการผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. อาจส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงยึดอายัดเหล็กทั้งหมดไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 จำนวน 2,441 ตัน มูลค่ากว่า 49.2 ล้านบาท พร้อมเรียกคืนเหล็กจากท้องตลาดที่ผลิตจากบริษัทฯ คืนทั้งหมด และได้ดำเนินคดีกับบริษัทฯ อย่างถึงที่สุด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ทีมตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกับ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบในประเด็น ดังนี้
- โรงงานมีการลักลอบประกอบกิจการภายหลังจากการสั่งปิดหรือไม่ – จากการตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าในโรงงาน พบว่า ก่อนที่บริษัทฯ จะถูกสั่งปิดเมื่อเดือนธันวาคม 2567 มีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 150 ล้านบาท ภายหลังจากการสั่งปิด มีการใช้ไฟฟ้าในเดือนมกราคม 2568 ค่าไฟ 1.2 ล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ค่าไฟ 6.4 แสนบาท โดยเดือนในเดือนมีนาคม 2568 ค่าไฟขยับขึ้นมาเป็น 6.4 ล้านบาท ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไปว่าบริษัทฯ มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นด้วยเหตุผลประการใด
- โรงงานมีการลักลอบเคลื่อนย้ายเหล็กที่ถูกยึดอายัดไว้เป็นของกลางหรือไม่ – ผลจากกการตรวจสอบพบว่า เหล็กของกลางที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดอายัดไว้ยังอยู่ครบถ้วน ไม่มีการเคลื่อนย้าย ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่ายังไม่มีการลักลอบจำหน่ายเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานออกไป
- เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างเหล็กจากบริษัทฯ นำกลับมาตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อตรวจเช็คว่าเป็นเหล็กในล็อตใดบ้าง ถูกจำหน่ายออกจากบริษัทไปเมื่อไร ซึ่งในส่วนนี้ได้สั่งการให้บริษัทฯ ทำหนังสือชี้แจงการจำหน่ายเหล็กทั้ง 2 ขนาดที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งกลับมาภายใน 7 วัน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบการลักลอบจัดเก็บฝุ่นแดงซึ่งเป็นวัตถุอันตรายไว้ภายในบริเวณโรงงาน จำนวนมากกว่า 43,000 ตัน โดยที่บริษัทฯ แจ้งการกักเก็บฝุ่นแดงที่เกิดจากเตาหลอมเหล็กก่อนถูกสั่งปิด เพียงปีละ 2,245 ตันเท่านั้น อีกทั้งในปี 2567 บริษัทฯ ไม่มีการแจ้งหรือรายงานการกักเก็บฝุ่นแดงแต่อย่างใด กรณีนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้สั่งการให้บริษัทฯ ชี้แจงภายใน 7 วัน หากมีการแจ้งข้อมูลเท็จจะต้องโดนโทษนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ต่อไป



ข่าว/ภาพ: กระทรวงอุตสาหกรรม
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #saveอุตสาหกรรมไทย #saveสิ่งแวดล้อม #ตรวจสุดซอย #ระยอง #ซินเคอหยวน #เอกนัฏ #รมวขิง #รมวเอกนัฏ #รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม #เหล็กข้ออ้อย #สตงถล่ม