วันที่ 26 มีนาคม 2568 นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ร่วมปฏิบัติการทีมตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ลุยตรวจสอบสถานประกอบการ จำนวน 4 แห่งในจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ 1) บริษัท โกลเด้นไทย รับเบอร์ เทค จำกัด 2) โรงล้างถัง 3) บริษัท เอส.พี.วี.ปิโตรเลี่ยม จำกัด และ 4) บริษัท ฟรุ้ตสตอรี จำกัด เพื่อกำกับดูแลเชิงรุกในการติดตามการประกอบกิจการให้มีการจัดการอย่างถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขการอนุญาตอย่างเคร่งครัด

โดยสถานประกอบการแห่งแรกเป็นโรงงานรีไซเคิลของ “บริษัท โกลเด้นไทย รับเบอร์ เทค จำกัด” ในตำบลนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ประกอบกิจการนำยางรถยนต์เก่ามาทำยางรีเคลม ขณะตรวจสอบพบกองวัตถุดิบยางรถยนต์ภายในอาคาร มียางเก่าที่ไม่ใช่ยางรถยนต์ปะปนอยู่ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่ายางเก่าดังกล่าวน่าจะเป็นวัตถุดิบที่ไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างยางผง (Powder Rubber) จำนวน 1 ตัวอย่าง และยางรีเคลม จำนวน 1 ตัวอย่าง เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ ตรวจพบอาคารอีกหลังในบริเวณเดียวกัน ภายในอาคารมีคนงานและเครื่องจักรกำลังนำยางรถยนต์ที่ใช้แล้วมาตัดและแยกลวด เมื่อสอบถามบริษัทฯ และตรวจสอบเอกสาร ปรากฏว่าเป็นการลักลอบประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่จึงสั่งให้ระงับการประกอบการทันที พร้อมเตรียมออกคำสั่งเอาผิดตามข้อหาตั้ง/ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต

สถานประกอบการแห่งที่สอง “โรงล้างถัง” ในตำบลนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เป็นอาคารโกดังไม่เข้าข่ายโรงงาน พื้นที่ประกอบกิจการประมาณ 600 ตารางเมตร ขณะตรวจสอบพบกองถังพลาสติกและถังเหล็กอยู่ทั้งภายในและภายนอกอาคารโกดัง ไม่พบเครื่องจักรที่ใช้ล้างถัง แต่มีร่องรอยการล้างถังที่คาดว่าน่าจะปนเปื้อนสารเคมี นอกจากนี้ ตรวจพบแอ่งน้ำลักษณะขุ่นสีดำ ซึ่งพนักงานโรงล้างถังที่เป็นผู้นำตรวจแจ้งว่าเป็นแอ่งน้ำจากเหตุไฟไหม้เมื่อปี 2562 เจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างน้ำในแอ่งน้ำดังกล่าว จำนวน 2 ตัวอย่าง รวมทั้งน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะด้านหน้าและด้านข้างโรงล้างถังอีกจุดละ 1 ตัวอย่าง พร้อมกันนี้ ได้ประสานฝ่ายปกครององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย อำเภอและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้าตรวจสอบและเตรียมออกคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับสถานประกอบการแห่งที่สาม เป็นโรงงานรีไซเคิลของ “บริษัท เอส.พี.วี.ปิโตรเลี่ยม จำกัด” ในตำบลนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ประกอบกิจการทำน้ำมันผสมสีทาบ้าน ขณะตรวจสอบบริเวณด้านหลังอาคาร พบกองดินขนาดพื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร ปริมาตรราว 3,750 ตารางลูกบาศก์เมตร จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่ากองดินน่าจะผสมหรือปนเปื้อนตะกอนน้ำมัน อีกทั้งไม่พบการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน การตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน การแจ้งข้อมูล การจัดทำรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน และรายงานเสนอมาตรการควบคุมและมาตรการลดการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน พ.ศ. 2559 เจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างดินที่กองด้านหลังอาคาร จำนวน 1 ตัวอย่าง โดยจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายหากผลการพิสูจน์ตรวจสอบว่าเข้าข่ายเป็นวัตถุอันตราย

เวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานของ “บริษัท ฟรุ้ตสตอรี จำกัด” ในตำบลท่าเสา อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ประกอบกิจการผลิตผลไม้อบแห้ง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีได้รับเบาะแสเหตุร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ว่ามีการลักลอบปล่อยน้ำเสียออกนอกโรงงาน จึงเร่งเข้าตรวจสอบการประกอบกิจการภายในโรงงาน พร้อมประสานความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ร่วมสำรวจบริเวณภายนอกรอบโรงงาน โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างน้ำจากกระบวนการผลิตและน้ำจากบริเวณริมรั้วด้านนอกโรงงาน เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้ามาตรการเชิงรุกในการควบคุมและป้องกันปัญหามลพิษจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ในการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไป
ทั้งนี้ ทีมตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่ในครั้งนี้ นำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเตมีย์ พันธุวงค์ราช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายกิติพงศ์ อติชาติพงศ์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มจัดการกากอุตสาหกรรม 4 กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นางสาววิชุดา สัมฤทธิ์ผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันตก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง


#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #saveอุตสาหกรรมไทย #saveสิ่งแวดล้อม #กากอุตสาหกรรม #ร้องเรียน #ทีมตรวจสุดซอย #โรงงานรีไซเคิล #กากอุตสาหกรรม