วันที่ 13 มกราคม 2568 เวลา 09.30 น. นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายเจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ร่วมชุดตรวจสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายจุลพงษ์ ทวีศรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านยุทธศาสตร์ พร้อมด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ลงพื้นที่โรงงานจำนวน 2 แห่ง ในตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีพบหลักฐานเชื่อมโยงกับโรงงานรีไซเคิลในตำบลศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ที่ดำเนินการผิดเงื่อนไขการอนุญาต รวมทั้งครอบครองขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากโดยไม่สามารถชี้แจงแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ จนทำให้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์/ขยะพลาสติก และให้ใช้ประโยชน์จากขยะภายในประเทศ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563
จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงงานแห่งแรก เป็นโรงงานลำดับที่ 106 ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวกับการบดย่อยมอเตอร์ เศษสายไฟทุกชนิด และโลหะ ที่ไม่เป็นของเสียอันตราย ขณะตรวจสอบไม่พบคนงาน ไม่พบวัตถุอันตรายที่เข้าข่ายพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และไม่พบการประกอบกิจการโรงงาน จากการตรวจค้นพบพื้นที่อาคารโกดัง จำนวน 4 หลัง โดยบริษัทแห่งแรกนี้ได้เช่าอาคารโกดัง ขนาดพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 – 30 เมษายน 2568 และขออนุญาตประกอบกิจการถูกต้อง ทั้งนี้ เจ้าของอาคารโกดังแห่งนี้เคยถูกดำเนินคดีจากการกระทำความผิดข้อหาตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งได้ชำระค่าปรับตามบทลงโทษเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 เมื่อสอบถามเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบในโรงงาน ผู้แทนบริษัทฯ แจ้งว่า ในช่วงปี 2562-2566 บริษัทฯ นำเข้าเศษเหล็ก (Mixed Metal) จากต่างประเทศผ่านตัวแทนขนส่งสินค้า (Shipping) ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีการนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว แต่เป็นการสั่งซื้อวัตถุดิบจากบริษัทผู้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศแทน เบื้องต้นบริษัทยังไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานประกอบข้อมูลการให้การต่อเจ้าหน้าที่ได้
สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราจึงเตรียมออกคำสั่งตามมาตรา 35 (4) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้บริษัทฯ ส่งมอบเอกสารชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงข้อมูลรายละเอียดการขนส่งสินค้าให้เจ้าหน้าที่ภายใน 7 วัน พร้อมกำชับบริษัทฯ ปรับปรุงการประกอบกิจการโรงงานให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตในทันที โดยเจ้าหน้าที่จะเร่งตรวจสอบอย่างละเอียด หากพบความผิดอื่นที่ต้องดำเนินคดีทางกฎหมาย
ในต่อมา เวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานแห่งที่สอง เป็นโรงงานลำดับที่ 106 ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการนำเศษมอเตอร์และเศษสายไฟทุกชนิดที่เป็นของเสียไม่อันตรายมาผ่านกรรมวิธีบดย่อย ขณะตรวจสอบพบการประกอบกิจการตัดแยกมอเตอร์และคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ คัดแยก บดย่อย และร่อนแยกเศษสายไฟ รวมทั้งพบการกองเก็บวัตถุดิบประเภทเศษโลหะ เศษเครื่องใช้ไฟฟ้าที่บดย่อยแล้ว มอเตอร์เก่า คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศเก่า และกองกากของเสียจากการคัดแยกไว้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ซึ่งบางชิ้นเป็นวัตถุดิบที่พบอยู่ในพื้นที่โรงงานแห่งแรกเช่นกัน นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่าโรงงานมีการตัดแยกมอเตอร์คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศซึ่งภายในยังคงมีน้ำมันที่เป็นของเสียอันตรายและเป็นวัตถุอันตราย ดังนั้น ประกอบกิจการจึงไม่ตรงกับที่ได้รับใบอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 รวมถึงเป็นการมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 บัญชี 5.2 ของเสียเคมีวัตถุ ลำดับที่ 4.2 ของเสียประเภทน้ำมันแร่ที่มีสภาพไม่เหมาะสำหรับการใช้งานตามวัตถุประสงค์เดิม เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 23 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 นอกจากนี้ ยังตรวจพบมิเตอร์ไฟฟ้าที่มีลักษณะคล้ายนำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย
เจ้าหน้าที่จึงยึดอายัดมอเตอร์คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศบริเวณด้านหน้าอาคารโรงงาน จำนวน 440 ถุงบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ (Bigbag) และชิ้นส่วนมิเตอร์ไฟฟ้าที่เก็บในอาคาร จำนวน 12 กล่อง พร้อมกันนี้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราจะออกคำสั่งตามมาตรา 37 สั่งให้ระงับการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน และปรับปรุงแก้ไขให้เป็นตามเงื่อนไขในใบอนุญาต ตามมาตรา 35(4) ให้บริษัทฯ แสดงเอกสารการได้มาซึ่งวัตถุดิบว่ามีแหล่งที่ได้มาอย่างไร และให้บริษัทฯ ส่งมอบเอกสารชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร อีกทั้งจะดำเนินการกล่าวโทษร้องทุกข์กับนิติบุคคลและกรรมการบริษัทฯ ในฐานความผิดการประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 รวมถึงฐานความผิดการมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ประเภท 3 บัญชี 5.2 ลำดับที่ 4.2 ตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ลงพื้นที่ในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเตมีย์ พันธุวงศ์ราช ผู้อำนวยการกองตรวจราชการสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสมชาย เถื่อนสุวรรณ์ อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา นายกิติพงศ์ อติชาติพงศ์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มจัดการกากอุตสาหกรรม 4 กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #saveอุตสาหกรรมไทย #saveสิ่งแวดล้อม #ตรวจสุดซอย #ขยะอิเล็กทรอนิกส์ #ปราจีนบุรี #ฉะเชิงเทรา