เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดี รักษาราชการแทน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้ นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน เข้าประชุมชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและจัดทำมาตรการป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา กรณีน้ำมันรั่วไหลทางทะเลและมลพิษอื่น ๆ จากภาคอุตสาหกรรม ในคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อร่วมพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการปล่อยมลพิษจากหอเผาทิ้งของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยอง รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ และกรมควบคุมโรค โดยมี นางวนิดา ทองช่วย ผู้อำนวยการกลุ่มมลพิษอากาศ กองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

สำหรับการประชุมดังกล่าว กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ชี้แจงถึงมาตรการควบคุมการระบายสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) จากภาคอุตสาหกรรม กำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มโรงกลั่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงปิโตรเคมี ต้องตรวจสอบอุปกรณ์และระบบท่อเป็นประจำทุกปี รวมทั้งดำเนินการซ่อมบำรุงทันทีหากตรวจพบการรั่วไหล นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนหอเผาทิ้งและถังกักเก็บสารอินทรีย์ระเหย โดยให้แจ้งแผนการหยุดซ่อมบำรุง รวมถึงการแจ้งการใช้หอเผาทิ้ง การเกิดควันดำ และการประเมินปริมาณการระบายสารสู่บรรยากาศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการลดมลพิษ

พร้อมกันนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอข้อคิดเห็นต่อการดำเนินงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ ดังนี้
- ควรมีมาตรการติดตามการควบคุมการใช้หอเผาทิ้ง และนำบทลงโทษมาใช้ให้มีประสิทธิภาพ
- ควรพิจารณาแนวทางการลดการปล่อยมลพิษจากการซ่อมบำรุงประจำปีของโรงงานอุตสาหกรรม (Shutdown/Turnaround) โดยการเหลื่อมช่วงเวลาในการซ่อมบำรุง ไม่ให้เกิดการปลดปล่อยและระบายสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) ออกมาพร้อมกันเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบ
- ควรพิจารณาแนวทางการเร่งขับเคลื่อนการใช้หอเผาทิ้งระบบปิด (Enclosed Ground Flare) ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยกว่าการใช้หอเผาทิ้งแบบดั้งเดิม (Elevated Flare)
ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ในการกำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยจะนำข้อคิดเห็นของคณะอนุกรรมาธิการฯ ไปดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป


#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #saveอุตสาหกรรมไทย #saveสิ่งแวดล้อม #โรงกลั่น #โรงแยกก๊าซธรรมชาติ #โรงปิโตรเคมี #หอเผาทิ้ง