วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เวลา 09.30 น. นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะรองประธานคณะทำงานด้านเทคนิคสำหรับส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกากอุตสาหกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ TWG (Technical Working Group) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาปิดโครงการ “การพัฒนาเกณฑ์สิ้นสุดการเป็นของเสีย (End-of-Waste; E-o-W) กรณีศึกษาการผลิตผนังยิปซัมจากแบบพิมพ์ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้ว และการผลิตสารละลายไบโอโซเดียมซิลิเกตและไบโอโพแทสเซียมซิลิเกตอย่างยั่งยืนจากเถ้าแกลบ” เพื่อเผยแพร่ผลจากการศึกษาวิจัยที่ได้ดำเนินการ ตลอดระยะเวลา 1 ปี โดยมี นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการฯ พร้อมด้วย นายจุลพงษ์ ทวีศรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรรม นางสาวปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นายเอกบุตร อุตมพงศ์ รักษาการนักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ดร.อุมา วิรัตน์สกุลชัย ผู้ประสานงานโครงการจากองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO: United Nations Industrial Development Organization) ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษาและวิจัย และภาคอุตสาหกรรม เข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ
กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการศึกษาการพัฒนาเกณฑ์สิ้นสุดการเป็นของเสีย เพื่อเพิ่มมูลค่ากากอุตสาหกรรมให้เป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยศึกษานำร่องกากอุตสาหกรรม จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ 1) แบบพิมพ์ปูนปลาสเตอร์ 2) เถ้าแกลบ 3) ก้างปลาทูน่า และ 4) ยิปซัมสังเคราะห์ ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ ได้มอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยแบบพิมพ์ปูนปลาสเตอร์นำไปผลิตแผ่นยิปซัม (Gypsum Wall) สำหรับใช้ในงานก่อสร้าง และศูนย์เทคโทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ศึกษาวิจัยเถ้าแกลบนำไปผลิตเซรามิกโบนไชน่า (Bone China) เพื่อส่งเสริมการเพิ่มมูลค่ากากอุตสาหกรรม หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดการสิ้นสุดความเป็นของเสีย นำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนแบบครบวงจร ที่มีการบริหารจัดการตั้งแต่วัตถุดิบต้นทาง กระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมถึงการคำนวณค่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิค การลงทุน และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาวิจัยนี้จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ใช้งานในการตัดสินใจเลือกใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์จากของเสีย ทั้งนี้ ข้อกำหนดและเงื่อนไขของเกณฑ์การสิ้นสุดความเป็นของเสีย ประกอบด้วย 4 เงื่อนไขหลัก ดังนี้
(1) วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้ต้องมีวัตถุประสงค์การใช้งานเฉพาะ
(2) วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้ต้องเป็นที่ต้องการของตลาด มีตลาดรองรับหรือความต้องการใช้งานที่ชัดเจน
(3) การใช้งานจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนด และมาตรฐาน
(4) การนำไปใช้งานต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในภาพรวม
พร้อมกันนี้ ได้จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “ถอดบทเรียน (Lesson Learned) จากการจัดทำ (ร่าง) เกณฑ์สิ้นสุดการเป็นของเสียนำร่อง และการดำเนินนโยบายสำหรับกากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในอนาคต” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายมุมมอง ต่อการพัฒนาเกณฑ์สิ้นสุดการเป็นของเสียในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยภายหลังจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะสังเคราะห์ผลการศึกษา ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับใช้สำหรับการจัดทำหลักเกณฑ์เชิงนโยบายที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติงานและบริบทของประเทศไทย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #saveอุตสาหกรรมไทย #saveสิ่งแวดล้อม #อบรม #สัมมนา #งานวิจัย #กากอุตสาหกรรม #waste #วัสดุหมุนเวียน #UNIDO #ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน #TWG #ปูนปลาสเตอร์ #แผ่นยิปซัม #เถ้าแกลบ #EndofWaste