วันที่ 2 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ DCCE เป็นประธานร่วมกล่าวเปิดโครงการลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตในประเทศไทย (Decarbonization of the Cement and Concrete Sectors in Thailand) ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของแคนาดา (Environment and Climate Change of Canada: ECCC) ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization: UNIDO) มีเป้าหมายหลักเพื่อการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต โดยมี นางสาวปิง กิดนิกร เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย นาย Riccardo Savigliano, Chief, Energy system and Decarbonization Unit และนาย Fukuya Lino ผู้แทนสำนักงานภูมิภาค UNIDO ประจำประเทศไทย นางสาวปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน นางสาวปานทอง ศรีคัฒนพรหม รักษาการในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ และนางสาวพัทธนันทน์ ตาริน ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ
โครงการดังกล่าวนี้ เป็นความร่วมมือพหุภาคี โดยมี UNIDO เป็นผู้บริหารโครงการ ภายใต้คำแนะนำจากคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งมีอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมและอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานร่วม และมีผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และกรมควบคุมมลพิษ พร้อมทั้งผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของแคนาดา จำนวน 8 ล้านเหรียญดอลลาร์แคนนาดา ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง รวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทั้งระบบอย่างครอบคลุมผ่านกลไกต่าง ๆ ทั้งด้านนโยบาย การบ่มเพาะนวัตกรรม และการนำร่องเทคโนโลยี โครงการนี้จึงมีส่วนสำคัญในการยกระดับให้อุตสาหกรรมขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อ “นโยบายการลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต-ความท้าทายและอนาคต” เพื่อนำเสนอกรอบนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีในการลดการปล่อยคาร์บอนระดับสากล ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อช่วยพัฒนากลยุทธ์การลดคาร์บอนและแผนการดำเนินการที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) พบว่า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นลำดับ 1 รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ดังนั้น อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการปัญหาโลกร้อน รวมถึงเป็นโอกาสในการลงทุนและพัฒนาธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #saveอุตสาหกรรมไทย #saveสิ่งแวดล้อม #ปูนซีเมนต์และคอนกรีต #ECCC #DCCE #UNIDO #NetZeroEmissions #สัมมนา #การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ #คาร์บอน #ก๊าซเรือนกระจก