วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมาย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นางสาวนวพร สงวนหมู่ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นายสมชาย เถื่อนสุวรรณ อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา นำทีมคณะเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา (สอจ.ฉะเชิงเทรา) เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษภาคตะวันออก กรมโรงงานอุตสาหกรรม (ศวภ.ตอ.) เข้าตรวจสอบโรงงานในเขตปลอดอากร ตั้งอยู่เลขที่ 33 และ 33/3 – 7 หมู่ 12 ถนนวัดเนินไร่ ตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบกิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย ถอดแยกและบดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บดย่อยและผลิตเม็ดพลาสติก และหลอมโลหะจำพวกอลูมิเนียม จำนวน 5 ทะเบียนโรงงาน เพื่อตรวจสอบวัตถุอันตรายที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบและอายัดไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน รวมถึงตรวจสอบการปฏิบัติตามคำสั่ง และตรวจสอบโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาต พบข้อเท็จจริง ดังนี้
- มีการประกอบกิจการร่อนแยกเศษโลหะ ซึ่งเป็นการผ่าฝืนคำสั่งตาม มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ของพนักงานเจ้าหน้าที่ อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับวันละอีกไม่เกิน 5,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง รวมถึงมีความผิดข้อหาประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พบกองเศษวัสดุที่เหลือจากการคัดแยก บนพื้นโล่ง โดยไม่มีมาตรการป้องกันการรั่วไหลและปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม เป็นการผ่าฝืนกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 8(5) อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท
- พบเศษชิ้นส่วนแผงวงจรที่คัดแยกออกมาจากวัตถุดิบ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 มีความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พบหลักฐานการนำของเสียที่เหลือจากการคัดแยกของโรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต ออกไปในนามของบริษัท ซึ่งของเสียดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้นำออกนอกบริเวณโรงงาน
ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 (3) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และมาตรา 54 (3) แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 อายัดวัตถุอันตรายและเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการ เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #SAVEอุตสาหกรรมไทย #แปลงยาว #ฉะเชิงเทรา #ของเสีย #รีไซเคิล