วันที่ 3 กันยายน 2567 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายนางสาวณัฐอาภา อุไรกุล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ และนายวิสุทธิ์ ชุมคง เจ้าพนักงานตรวจโรงงานชำนาญงาน เจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย ลงพื้นที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (DEA) เพื่อเข้าตรวจสอบสาร “โซเดียมไซยาไนด์” (sodium cyanide) ต้นทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ปลายทางไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังอายัดไว้เมื่อปี 2565 และกรมโรงงานฯ ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทนำเข้าต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ในข้อหาส่งออกวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากใบอนุญาตส่งออกหมดอายุ จากการตรวจสอบเบื้องต้นสารโซเดียมไซยาไนด์ (sodium cyanide) ที่อายัดไว้มีลักษณะเป็นผลึกของแข็งสีขาว จำนวน 220 ตัน บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 10 ตู้
สารโซเดียมไซยาไนด์ (sodium cyanide) จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งผู้ประกอบการที่ประสงค์จะนำเข้า และผลิต จะต้องขอขึ้นทะเบียน พร้อมแจ้งวัตถุประสงค์การนำไปใช้ที่ชัดเจนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจะต้องได้รับอนุญาตก่อนการดำเนินการ โดยการนำไปใช้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ระบุในการที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง หากได้รับเข้าสู่ร่างกายจะเป็นอันตรายถึงชีวิต และสารโซเดียมไซยาไนด์ นอกจากใช้ทางอุตสาหกรรม และในห้องปฏิบัติการแล้ว ยังสามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด จึงต้องมีความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้า และการนำผ่าน
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรอ. #DIW #กระทรวงอุตสาหกรรม #MIND #กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย #ไซยาไนด์ #ป.ป.ส. #บช.ปส. #DEA