วันที่ 11 สิงหาคม 2567 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้ เจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับ นายทวี อำพาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก (ศวภ.ตอ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นพื้นที่ต้องสงสัยลักลอบขนย้ายผงอลูมิเนียมดรอส สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง จังหวัดนครปฐม ได้เรียกตรวจสอบรถบรรทุกหัวลาก มีนาย ปรเมศวร์ ธนาทรัพย์ศิริกุล เป็นผู้ขับขี่ ได้บรรทุกสิ่งของลักษณะเป็นผงละเอียดสีดำปนเทา ที่คาดว่าเป็นกากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม มาจาก จ.นครปฐม ไปส่งที่โรงงานใน จ.สมุทรสาคร โดยไม่มีเอกสารแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กก.5 บก.ปทส.) และเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม (สอจ.นครปฐม) เข้าร่วมตรวจสอบ พบว่า เป็นผงอลูมิเนียมดรอส ซึ่งถือเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จึงได้ร่วมกันตรวจยึดไว้เป็นของกลาง ดำเนินคดีในข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำตัวผู้ต้องหาส่ง กก.5 บก.ปทส. ดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมขยายผลเข้าตรวจสอบในพื้นที่ บริษัทไท่เป่าอลูมิเนียม จำกัด ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และสถานประกอบการของนายทุนต่างชาติ ตั้งอยู่ใน ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐมในวันนี้
เวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่ กรอ. ร่วมกับ ศวภ.ตอ. บก.ปทส. ตำรวจทางหลวง เจ้าหน้าที่ สอจ.สมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น นำหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจโรงงานของ บ. ไท่เป่า อลูมิเนียม พบข้อเท็จจริง ดังนี้
1. ขณะตรวจสอบไม่มีการประกอบกิจการ และไม่พบคนงาน ภายในโรงงานแต่อย่างใด
2. พบเครื่องจักรใช้สำหรับการหลอมโลหะ จำนวน 1 ชุด และพบวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการหลอม คือ เป็นตะกรันอลูมิเนียม ซึ่งเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 รวมทั้ง ยังตรวจพบแท่งอลูมิเนียมที่หลอมแล้วในแม่พิมพ์ขึ้นรูป เมื่อใช้มือสัมผัสตัวแท่งอลูมิเนียมในแม่พิมพ์ก็พบว่ายังมีความร้อนอยู่
3. ภายในและภายนอกตัวอาคารรอบโรงงาน มีถุงบิ๊กแบ็คซึ่งบรรจุกากอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น เศษอลูมิเนียม และที่คาดว่าเป็นตะกันอลูมิเนียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการหลอม ประมาณ 1,500 ถุง ซึ่ง ศวภ.ตอ. ได้เก็บตัวอย่างนำไปตรวจวัด วิเคราะห์ รวม 11 ตัวอย่าง
4. โรงงานแห่งนี้มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ซึ่งเป็นการโอนใบอนุญาตของ บริษัท เค การช่าง รอกไฟฟ้า จำกัด เป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ลำดับที่ 60 ทะเบียนโรงงานเลขที่ จ3-60-3/65สค โอนมาให้แก่ บริษัท ไท่เป่า อลูมิเนียม จำกัด แล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565
5. เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ สอจ.สมุทรสาคร ได้ทำการยึดอายัดสิ่งของบางส่วน เอกสารและเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในอาคารสำนักงาน เพื่อนำไปตรวจสอบ
เวลา 16.30 น. เจ้าหน้าที่ กรอ. ร่วมกับ ศวภ.ตอ. บก.ปทส. ตำรวจทางหลวง เจ้าหน้าที่ สอจ.นครปฐม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าตรวจสอบสถานประกอบการใน ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม ปรากฏรายละเอียดข้อเท็จจริง ดังนี้
1. พบว่าขณะตรวจสอบไม่มีการประกอบกิจการ และไม่พบคนงาน ภายในโรงงานแต่อย่างใด
2. พบเครื่องจักรใช้สำหรับการหลอมโลหะ จำนวน 2 ชุด มีการติดตั้งระบบบำบัดอากาศ แต่มีสภาพใช้งานไม่ได้ มีลักษณะการประกอบกิจการเข้าข่ายสถานประกอบการลำดับที่ 106 และตรวจพบแท่งอลูมิเนียมที่หลอมแล้วในแม่พิมพ์ขึ้นรูป เมื่อใช้มือสัมผัสพบว่ายังมีความร้อนอยู่
3. พบถุงบิ๊กแบ็คบรรจุกากอุตสาหกรรมที่คาดว่าเป็นวัตถุดิบในการหลอม เป็นตะกันอลูมิเนียม ภายในอาคารด้านหลังและภายนอกอาคาร รวมประมาณกว่า 8,200 ถุง ซึ่ง ศวภ.ตอ. ได้เก็บตัวอย่างนำไปตรวจ วัด วิเคราะห์ ภาคสนาม จำนวน 7 ตัวอย่าง ด้วยวิธี การวิเคราะห์ด้วยเครื่อง X-Ray Fluorescence (XRF) พบว่า มีปริมาณอลูมิเนียมอยู่ระหว่างร้อยละโดยน้ำหนัก 20.3548 ถึง 61.9380
4. พบบ่อน้ำในบริเวณสถานประกอบการจำนวน 2 บ่อ ซึ่ง ศวภ.ตอ. ได้เก็บตัวอย่างที่บ่อน้ำด้านหลังสถานประกอบการนำไปตรวจ วัด วิเคราะห์ จำนวน 1 ตัวอย่าง
5. จากการตรวจสอบของ สอจ.นครปฐม ไม่พบใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ซึ่ง สอจ.นครปฐม ได้เคยดำเนินคดีข้อหาตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อ เดือนเมษายน 2567 และออกคำสั่งตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ให้ระงับการประกอบกิจการแล้ว
6. เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ สอจ.นครปฐม ได้ทำการยึดอายัดสิ่งของทั้งหมดภายในและภายนอกอาคารและติดประกาศการยึดอายึดไว้บริเวณอาคารโรงงาน
จากข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่ พบว่าสถานประกอบการทั้ง 2 แห่ง มีความผิด ดังนี้
1. ตั้งโรงงานโดยไม่มีใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคสอง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับ
ไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535
2. ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่มีใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับ
ไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535
3. เข้าข่ายเป็นความผิดข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
4. เข้าข่ายเป็นความผิดข้อหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลฯ 2566 อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 8 ประกอบมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535
5. และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งการตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 (สำหรับกรณีโรงงานที่จังหวัดนครปฐม) อีกด้วย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรอ #DIW #กระทรวงอุตสาหกรรม #MIND #อลูมิเนียม #สมุทรสาคร #นครปฐม #ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน