วันที่ 8 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมผู้เชี่ยวชาญ (Expert Meeting) “การจัดทำเกณฑ์การสิ้นสุดการเป็นของเสียสำหรับแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้ว” พร้อมร่วมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทางเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาเกณฑ์การสิ้นสุดของเสียของแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้ว โดยมี ดร.ปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ดร.อุมา วิรัตน์สกุลชัย ผู้ประสานงานโครงการฯ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO; United Nations Industrial Development Organization) คณะทำงานด้านเทคนิคสำหรับส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกากอุตสาหกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว (TWG; Technical Working Group) พร้อมด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา/วิจัย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชดำริ ชั้น 12 โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ
การประชุมในครั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ได้นำเสนอ (ร่าง) เกณฑ์การสิ้นสุดการเป็นของเสียสำหรับแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้วในการนำกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ผนังยิปซัม (Gypsum Wall) สำหรับงานก่อสร้าง ประเด็นต่างๆ อาทิ
(1) หลักการและแนวทางการใช้เกณฑ์การสิ้นสุดการเป็นของเสีย
(2) ปริมาณและวิธีการจัดการในปัจจุบัน
(3) ลักษณะของแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้ว
(4) กระบวนการ Bake-Crush-Cast
(5) ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
พร้อมกันนี้ ได้รับฟังความคิดเห็น ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และข้อเสนอแนะทางเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาเกณฑ์การสิ้นสุดของเสียที่มีความสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย
สำหรับแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้ว (Plaster mold, Plaster working mold) เป็นแบบพิมพ์ที่ไม่ใช้แล้ว ที่มีการใช้งานในหลายอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์เซรามิก สุขภัณฑ์ เครื่องประดับ ถุงมือยาง ฟันเทียม เป็นต้น ถือเป็นหนึ่งในกากอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มีความต้องการและตลาดรองรับ โดยการศึกษาจะครอบคลุมถึงการคำนวณค่าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุน ตลาด และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์อีกด้วย
หลังจากนี้ คณะทำงานฯ จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ มาปรับใช้ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกากอุตสาหกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว และจะดำเนินการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตผลที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เตรียมผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาการแลกเปลี่ยนของเสียระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #งานวิจัย #กากอุตสาหกรรม #waste #วัสดุหมุนเวียน #UNIDO #ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน #TWG #ปูนปลาสเตอร์ #แผ่นยิปซัม