วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีแรงงานภาค 2 ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย นำคณะเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย นายปณตสรรค์ สูจยานนท์ ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 1 นายทวี อำพาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก เจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษและนำพยานหลักฐานส่งมอบให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเขาหินซ้อน ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อ บริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด ประกอบกิจการเกี่ยวกับแร่โมลิบดีนัม ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรม 304 (แหลมเขา) จังหวัดฉะเชิงเทรา ในการกระทำความผิดข้อหาก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารอันตรายลงในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 (เขื่อนยายแจ๋ว) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ประชาชนในพื้นที่ใช้อุปโภคบริโภค
จากกรณีเหตุร้องเรียนความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องกลิ่นและพบการปนเปื้อนกากของเสียอุตสาหกรรมรั่วไหลแพร่กระจายลงสู่ชั้นใต้ดิน จนส่งผลกระทบต่อน้ำใต้ดินและไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำฯ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา (สอจ.ฉะเชิงเทรา) จึงตรวจสอบข้อเท็จจริงและสั่งการตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้บริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด หยุดประกอบกิจการโรงงานเพื่อปรับปรุงแก้ไขโรงงาน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้า พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำ ดิน และน้ำใต้ดิน จากทั้งบริเวณอ่างเก็บน้ำฯ และภายในบริเวณโรงงาน เพื่อตรวจวัดวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง พบค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) และโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ทองแดง แมงกานีส และสังกะสี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
จากการตรวจสอบหาสาเหตุการปนเปื้อนที่เกิดขึ้น สรุปได้ว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับโรงงานของ บริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด โดยเกิดจากการปล่อยน้ำเสียที่มีสารปนเปื้อนแพร่กระจายลงสู่ชั้นใต้ดินผ่านชั้นน้ำใต้ดิน และไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำฯ จากบริเวณด้านหลังและด้านข้างของโรงงานดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายส่งผลกระทบให้แหล่งน้ำสาธารณะปนเปื้อนโลหะหลายชนิด มีค่าความเป็นกรดสูง (pH 2.5-3.5) จนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงความผิดในข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #บริษัททีเอชเอชโมลีโพรเซสซิ่งจำกัด #เอชเอชโมลีโพรเซสซิ่ง #โมลิบดีนัม #อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่16 #เขื่อนยายแจ๋ว #สวนอุตสาหกรรม304 #แหลมเขา