You are currently viewing ปลัดฯ ณัฐพล ร่วมหารือ อธิบดีกรมโรงงานฯ ปรับ (ร่าง) หลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว ปักธงปี ’68 โรงงานต้องผ่านจีไอ 100%

วันที่ 6 มิถุนายน 2567 เวลา 14.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ GI (Green Industry) โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กองตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายธีรทัศน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายปณตสรรค์ สูจยานนท์ ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 1 นายบวร สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน นางสาวปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 505 ชั้น 5 อาคารกรมโรงงานอุตสาหกรรม

การประชุมหารือเกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ GI (Green Industry)
การประชุมหารือเกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ GI (Green Industry)

การประชุมในครั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รายงานสถานการณ์ของ GI (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2567) เผยว่า ปัจจุบันมีจำนวนโรงงานทั้งหมดที่แจ้งประกอบการ จำนวน 62,826 โรงงาน ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว จำนวน 55,029 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 88 ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ ดังนี้

(1) ระดับ GI 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) จำนวน 48,087 โรงงาน

(2) ระดับ GI 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) จำนวน 3,095 โรงงาน

(3) ระดับ GI 3 ระบบสีเขียว (Green System) จำนวน 3,412 โรงงาน

(4) ระดับ GI 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) จำนวน 367 โรงงาน

(5) ระดับ GI 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) จำนวน 68 โรงงาน

อย่างไรก็ตาม มีจำนวนโรงงานที่อยู่ในระดับ GI 3-5 จำนวน 3,847 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนโรงงานที่เข้าสู่ GI

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุม
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุม

ทั้งนี้ กรอ. ได้ร่วมหารือขอคำแนะนำสำหรับแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย MIND ของกระทรวงอุตสาหกรรม ใช้ “หัว” และ “ใจ” ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ภายใต้ 4 มิติ ได้แก่ มุ่งสร้างความสำเร็จให้ภาคธุรกิจ ดูแลสังคมโดยรอบโรงงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

(1) ระดับ GI 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) โดยมุ่งเน้นให้โรงงานอุตสาหกรรมสมัครเข้าร่วมผ่าน i-Industry พร้อมยืนยันรับทราบนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมและการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงาน โดยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อสังคม

(2) ระดับ GI 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) โดยโรงงานอุตสาหกรรมต้องมีการจัดทำแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ด้านการใช้ทรัพยากร ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ด้านการจัดการของเสีย และอื่นๆ ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก

(3) ระดับ GI 3 ระบบสีเขียว (Green System) โดยโรงงานอุตสาหกรรมต้องมีการประเมินตนเองผ่าน Thailand i4.0 Checkup และ DIW Safety Application แสดงผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินการตามแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

(4) ระดับ GI 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) โดยโรงงานอุตสาหกรรมต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 3 และได้รับการรับรอง CSR-DIW Continuous/ CSR-DPIM Continuous หรือ ผ่านการทวนสอบว่าเป็นไปตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม มอก. 26000-2553/ISO 26000-2010 จากหน่วยรับรองหรือหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบที่ได้รับการรับรองงาน มีการจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร มีการดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Intensity) ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินการในสภาวะปกติ

(5) ระดับ GI 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) โดยโรงงานอุตสาหกรรมต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 มีการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว กรณีเป็นโรงงาน ต้องได้ GI 3 ขึ้นไป ส่วนกรณีไม่เป็นโรงงานแต่มีการดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องมีมาตรการควบคุมหรือลดผลกระทบที่เกิดขึ้น มีการเสนอแผนความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Plan) หรือแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission Plan) รวมถึงแสดงผลการกระจายรายได้สู่ชุมชน และผลการประเมินความพึงพอใจเฉลี่ย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

โดยอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 1- 3 เป็นการประเมินแบบ Self-Declaration และ อุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 – 5 เป็นการประเมินโดยมีผู้ตรวจประเมิน

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวแล้ว จะต้องมุ่งมั่นประกอบกิจการโรงงานให้เกิดปลอดภัย ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงาน มิเช่นนั้นจะถูกพิจารณาเพิกถอนการให้การรับรองได้

นอกจากนี้ กรอ. ได้มีการเตรียมความพร้อมในการยกระดับสถานประกอบการเข้าสู่ GI ร้อยละ 100 ภายในปี 2568 ผ่านการจัดทำคู่มือ สื่อประชาสัมพันธ์ อบรมสัมมนาถ่ายทอดความรู้ พัฒนาสารสนเทศอุตสาหกรรมสีเขียว ตลอดจนทำความร่วมมือกับ International Center for Environment Technology Transfer (ICETT) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ SMEs ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร

นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
กรอ. ได้มีการเตรียมความพร้อมในการยกระดับสถานประกอบการเข้าสู่ GI ร้อยละ 100 ภายในปี 2568
กรอ. ได้มีการเตรียมความพร้อมในการยกระดับสถานประกอบการเข้าสู่ GI ร้อยละ 100 ภายในปี 2568

#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมสีเขียว #GI #GreenIndustry